Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

เพราะเหตุใด ยิ่งเล่นมาก ยิ่งพร้อมสำหรับการทำงานในอนาคต

Posted By ณัฏฐณี สุขปรีดี | 30 มี.ค. 61
17,090 Views

  Favorite

ในยุคสมัยที่งานหลาย ๆ อย่างกำลังถูกท้าทายด้วยการแทนที่ของเทคโนโลยี โดยเฉพาะเทคโนโลยีที่มีความอัจฉริยะที่เราคุ้นเคยกันในชื่อ Artificial Intelligence หรือ AI แน่นอนว่า ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเรื่องนี้ ไม่ใช่เพียงแค่วัยทำงานในปัจจุบันเท่านั้น แต่การเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่นี้ ยังส่งผลกระทบไปถึงเด็ก ๆ ที่จะเติบโตขึ้นเป็นคนทำงานในอนาคตด้วย

 

สิ่งที่น่าสนใจก็คือ แล้วทักษะหรือความสามารถอะไรกันล่ะ ที่ยังคงเป็นที่ต้องการและจำเป็นสำหรับการทำงานในอนาคต ที่เทคโนโลยียังไม่สามารถแทนที่ได้ คำถามนี้ ทำให้ผู้บริหารองค์กรระดับโลก เริ่มพยายามที่จะสื่อสารกับสังคม โดยเฉพาะพ่อแม่ เพื่อให้เตรียมลูก ๆ หลาน ๆ ให้เติบโตไปเป็นบุคคลที่สังคมต้องการและมีตลาดงานรอบรับ

 

จอห์น กู๊ดวิน  (John Goodwin) ซีอีโอมูลนิธิเลโก้ กล่าวถึงทักษะสำคัญ 2 อย่างที่มีความจำเป็นอย่างมากสำหรับงานในอนาคต ว่าได้แก่ “การมีจินตนาการ” และ “ความสามารถในการแก้ปัญหา” ซึ่งสอดคล้องกับมุมมองของสองผู้บริหารจากอิเกีย และยูนิลิเวอร์ที่มองว่า ทักษะเหล่านี้เป็นสิ่งสำคัญและเป็นที่ต้องการของผู้ประกอบการในอนาคต และเมื่อถามว่า แล้วทักษะเหล่านี้ เราจะสร้างให้กับเด็ก ๆ ได้อย่างไร ครูพิมคิดว่า คำตอบที่เรากำลังจะพูดถึงนี้ เป็นสิ่งที่นักวิจัยและนักการศึกษาพยายามที่จะบอกกับเรามาโดยตลอด และเป็นสิ่งที่สามารถทำได้ง่าย ๆ ด้วยตัวของคุณเอง นั่นก็คือ การให้โอกาสลูกได้ “เล่น” ให้มากที่สุดนั่นเองค่ะ

 

ภาพ : Shutterstock

 

ประโยชน์ของการเล่น

“การเล่น เป็นการจัดสภาพแวดล้อมให้เชื่อมโยงกับสภาพแวดล้อมในการทำงานและสภาพสังคม” จอห์น กู๊ดวิน กล่าวถึงประโยชน์ของการเล่นจากมุมมองของผู้จ้างงานและผู้บริหารองค์กร ซึ่งไม่ต่างไปจากข้อค้นพบจากงานวิจัย ที่กล่าวว่า การเล่น ช่วยสร้างทักษะที่สำคัญต่อโลกในอนาคต อย่างเช่น ทักษะทางด้านสังคม ทักษะในการจัดการกับอารมณ์ รวมไปถึงทักษะทางด้านวิชาการและการเรียนรู้

ในขณะที่เด็ก ๆ นำผ้าผืนยาวมาพันเป็นแบทแมน พวกเขากำลังได้ทักษะสำคัญในด้านจินตนาการ

ในขณะที่เด็ก ๆ กำลังต่อบล็อกไม้ให้เป็นเมือง พวกเขากำลังได้ทักษะสำคัญในด้านความคิดสร้างสรรค์

และในขณะที่พวกเขากำลังเล่นสิ่งเหล่านั้นอย่างต่อเนื่องไปเรื่อย ๆ พวกเขาก็กำลังได้ฝึกทักษะทางด้านความฉลาดทางอารมณ์และการกำกับตนเอง รวมไปถึงทักษะทางด้านความเข้าใจผู้อื่นหรือ Empathy ซึ่งเป็นทักษะที่ไม่มีหุ่นยนต์ตัวใดทำแทนได้

 

เมื่อมาถึงตรงนี้ ผู้ปกครองหลาย ๆ ท่านอาจเริ่มเกิดคำถามว่า หากการเล่นเป็นเรื่องสำคัญ แล้วทำไมเราส่วนใหญ่จึงยังมุ่งมั่นและปลูกฝังให้เด็ก ๆ ท่องหนังสือ ถือตำรา หรือพยายามที่จะพาลูกเสริมทักษะด้านวิชาการกันมากขึ้น คำตอบหนึ่งที่ครูพิมตั้งข้อสังเกตและคิดว่ามีความเป็นไปได้สูงก็คือ เราทั้งหลายยังเปลี่ยนตัวเองไม่ทันกับโลกที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว อีกทั้งยังมีความยึดติดกับรูปแบบความสำเร็จในแบบดั้งเดิมกันอยู่มาก เช่นว่า ความสำเร็จของลูกอยู่ที่ความสามารถทางวิชาการเป็นหลัก หรือเรียนมาก่อน เล่นมาทีหลัง

 

แต่ในโลกยุคปัจจุบัน ทักษะทั้งหลายที่เราขวนขวายจะมอบให้ลูกนั้น ส่วนใหญ่กำลังจะเป็นทักษะที่หุ่นยนต์สามารถทำแทนได้แทบทั้งสิ้น ในขณะที่ทักษะทางชีวิตรวมถึง Soft Skills ต่าง ๆ นั้น กลับเป็นสิ่งที่เราละเลยและมองว่าจะเกิดขึ้นได้เองตามธรรมชาติ ทั้งที่ในความเป็นจริงนั้น ทักษะที่ดูเหมือนไม่จำเป็นนี่ล่ะ ที่จะเป็นตัวกำหนดความสำเร็จในอนาคตองเด็ก ๆ ยุคใหม่ได้อย่างแท้จริง และเป็นทักษะที่เกิดขึ้นได้อย่างง่ายดายจากสิ่งที่เด็กทั้งหลายรู้จักดี ซึ่งก็คือ “การเล่น” นั่นเองค่ะ

 

 

ครูพิม ณัฏฐณี   สุขปรีดี

นักจิตวิทยาผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาศักยภาพเด็กเล็กและการเลี้ยงลูกเชิงบวก

Facebook.com/PimAndChildren

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • ณัฏฐณี สุขปรีดี
  • 4 Followers
  • Follow