Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

เทคนิคสอนลูกเล็กไม่ให้วิ่งหนีในที่สาธารณะ

Posted By ณัฏฐณี สุขปรีดี | 06 มี.ค. 61
7,891 Views

  Favorite

พฤติกรรมหนึ่งที่เป็นเรื่องปกติของเด็กเล็ก ๆ ที่กำลังเพิ่งเรียนรู้ว่าตัวเองสามารถเดินและวิ่งได้นั้น ก็คือความพยายามที่จะเดินและวิ่งไปสำรวจโลกกว้างด้วยตนเอง (จนกว่าจะเหนื่อย)

 

การให้โอกาสเด็ก ๆ เพื่อเรียนรู้ความสามารถของตัวเองด้วยการเดินและวิ่งนั้น จริง ๆ แล้วนับว่าเป็นเรื่องที่ดีต่อตัวเด็กค่ะ เพราะเขาจะได้รับประสบการณ์ใหม่ ๆ ที่ต่างออกไปจากตอนที่พ่อแม่ยังต้องอุ้มเดิน และถือเป็นการพัฒนากล้ามเนื้อมัดใหญ่ (แขน ขา ลำตัว) ของเขาได้เป็นอย่างดี แต่เมื่อพฤติกรรมนี้เกิดขึ้นในที่สาธารณะ หรือสถานที่ที่คุณพ่อคุณแม่ไม่สามารถปล่อยให้พวกเขาวิ่งตามใจตัวเองได้ ความสนุกนี้ก็จะกลายเป็นเรื่องน่าปวดหัว (และน่าหวาดเสียว) ไม่น้อยเลยใช่ไหมล่ะคะ แต่ถ้าจะให้อุ้มตลอดเวลาก็คงไม่ไหว หรือจะให้นั่งรถเข็น ก็ไม่เป็นที่พอใจของเด็ก ๆ หลาย ๆ คนอีก

 

แล้วจะทำอย่างไรกันดี ให้คุณหนู ๆ ทั้งหลายรู้ว่า เวลาใดที่พวกเขาสามารถวิ่งเล่นได้ และเวลาใดที่ควรจะต้องอยู่ใกล้ ๆ กับคุณพ่อคุณแม่ วันนี้ครูพิมมีเทคนิคดี ๆ มาฝากแล้วค่ะ โดยเทคนิคที่ครูพิมจะแนะนำให้ฟังต่อไปนี้ บางข้อควรมีการฝึกฝนเด็ก ๆ ก่อนนำไปใช้จริง โดยเลือกฝึกฝนช่วงเวลาและสถานที่ที่เราสามารถให้เด็ก ๆ วิ่งเล่นได้ เช่น ที่สนามหน้าบ้าน ในสวนสาธารณะ ในสนามเด็กเล่น เป็นต้นค่ะ

 

ภาพ : Shutterstock

 

วิธีการ

1. ฝึกการเล่นไฟเขียวไฟแดง

กิจกรรมนี้เป็นการสอนให้เด็กๆ รู้จักฟังคำสั่ง ในขณะที่เด็ก ๆ คิดว่าเรากำลังเล่นกับเขาอยู่ วิธีการก็คือ สอนเด็ก ๆ ด้วยโค้ดคำพูดเช่น ไฟเขียว แปลว่า เด็ก ๆ สามารถวิ่งได้ แต่เมื่อเราพูดว่า ไฟแดง ก็ให้เด็ก ๆ หยุดอยู่กับที่หรือชะลอความเร็วลง ซึ่งเทคนิคที่สำคัญของการเล่นไฟเขียวไฟแดงนี้ คือ การที่คุณพ่อคุณแม่ทำท่าทางประกอบให้เด็ก ๆ เห็นด้วย และเมื่อเด็ก ๆ ทำตามคำสั่งได้ ก็ให้เราแสดงความสนุกสนาน ปรบมือชื่นชม หอมกอด หรือตามที่แต่ละบ้านสะดวกเลยค่ะ เมื่อเด็กคุ้นเคยกับคำสั่งเหล่านี้ เราก็สามารถนำไปใช้ได้ในสถานการณ์จริง ซึ่งมักได้ผลกว่าการบอกให้เด็ก ๆ หยุดหรือการสั่งห้ามค่ะ

 

2. ฝึกให้ลูกเดินจับมือเมื่อไปในที่สาธารณะ

วิธีการนี้ให้เริ่มต้นตั้งแต่เด็ก ๆ ฝึกเดิน โดยเมื่อต้องออกจากบ้าน ให้เราจับมือเด็กไว้ด้วยเสมอ พร้อมบอกเด็ก ๆ ว่า ออกจากบ้านเราเดินจับมือกันแบบนี้นะคะ/นะครับลูก และอาจเพิ่มเติมความสนุกหรือความรู้สึกดีให้กับเด็ก เช่น การจับมือกันแล้วเหวี่ยงไปมาเบา ๆ การจับมือพร้อมกับร้องเพลง เป็นต้น เพื่อให้เด็ก ๆ หันมาจดจ่อกับการจับมือของเรา จนลืมความรู้สึกอยากจะวิ่งไปชั่วขณะค่ะ

 

3. ใช้นิทานหรือเพลงเป็นสื่อการสอน

ข้อนี้ คุณพ่อคุณแม่อาจจะต้องใช้สื่อสำหรับเด็กเป็นตัวช่วยกันสักนิดค่ะ โดยเลือกเอาเพลงหรือนิทานที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับการเดิน การวิ่ง หรืออันตรายที่จะเกิดขึ้นจากการวิ่งแบบไม่ระวังมาให้เด็ก ๆ ได้อ่านหรือได้ฟัง ก็จะเป็นการปลูกฝังให้เด็ก ๆ ระมัดระวังตัวเองได้อีกทางหนึ่งค่ะ

 

4. หาอุปกรณ์หรือของบางอย่างให้เด็กได้ถือด้วยมือทั้ง 2 ข้าง

เทคนิคนี้ จะทำให้เด็กมาโฟกัสอยู่ที่ของที่ถืออยู่ และการถือของที่มีขนาดค่อนข้างใหญ่ จะเป็นการชะลอจังหวะการวิ่งของเด็กทางอ้อม เช่น เมื่อต้องไปซื้อของด้วยกัน เราอาจจะแบ่งถุงที่มีขนาดเหมาะสมให้เด็ก ๆ ช่วยถือ ซึ่งนอกจากจะเป็นการฝึกให้เด็ก ๆ ไม่วิ่งแล้ว ยังเป็นการปลูกฝังเรื่องการช่วยเหลือไปในตัวด้วยนะคะ

 

5. ใช้คำสั่งที่จริงจังและสม่ำเสมอ

เมื่อใดที่เด็ก ๆ เริ่มเกเร ไม่ฟัง หรือไม่ทำตามกติกาที่ได้ฝึกฝนหรือตกลงกันไว้ แน่นอนว่าข้อแรกที่คุณพ่อคุณแม่ควรทำทันทีคือ หยุดพฤติกรรมนั้น (เพราะอาจเป็นอันตรายได้) โดยการหยุดเด็ก ๆ ที่กำลังวิ่งนั้น ก็คือการโอบตัวไว้ด้วยมือทั้ง 2 ข้าง แทนการพูดหรือตะโกนสั่งให้หยุดเฉย ๆ

นอกจากนี้ ผู้ปกครองไม่ควรอย่างยิ่งที่จะตำหนิ ตวาด หรือใส่อารมณ์กับเด็ก และไม่ควรที่จะจับเด็กไว้ในลักษณะของการกระชากหรือดึง เพราะจะยิ่งทำให้พวกเขาต่อต้าน (หรือบางคนก็ชอบใจที่เห็นพ่อแม่เป็นแบบนี้) และยิ่งไม่ฟังคำสั่งของเราค่ะ เมื่อเราหยุดเด็กได้แล้ว จากนั้นให้บอกกับเด็กให้ชัด ๆ ว่าให้ทำอะไร เช่น เดินช้า ๆ ครับ/จับมือแม่ไว้ค่ะ เป็นต้น เมื่อเด็กยอมแต่โดยดี ก็อย่าลืมที่จะชื่นชมและให้กำลังใจเขาด้วยนะคะ แต่หากเขาแสดงการต่อต้าน ก็ให้คุณพ่อคุณแม่บอกเงื่อนไขที่ชัดเจนอีกครั้ง เช่น ถ้าหนูยังวิ่งแบบนี้อีก แม่/พ่อจะกลับแล้วนะ หรืออาจลงโทษด้วยการงดอะไรบางอย่าง เช่น ขนม ของเล่น เป็นต้นค่ะ

 

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ควรตระหนักไว้เสมอก็คือ เด็กในช่วงวัย 1-3 ปีนั้น เป็นช่วงที่กำลังสนุกกับการค้นพบความสามารถของตัวเองในการเดินและวิ่ง และพัฒนาการทางสมองนั้น ยังไม่พัฒนามากพอที่จะรู้จักการยับยั้งชั่งใจหรือควบคุมตัวเองได้ สิ่งสำคัญคือการฝึกฝนอย่างสม่ำเสมอและการให้โอกาสเด็ก ๆ ในการปลดปล่อยพลังบ้างตามโอกาส เพื่อให้เด็ก ๆ ได้ฝึกทั้งร่างกายและฝึกทักษะทางสังคมไปในขณะเดียวกันค่ะ

 

 

ครูพิม ณัฏฐณี  สุขปรีดี

นักจิตวิทยาผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาศักยภาพเด็กเล็กและการเลี้ยงลูกเชิงบวก

Facebook.com/PimAndChildren

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • ณัฏฐณี สุขปรีดี
  • 4 Followers
  • Follow