แต่ในยุคที่เทคโนโลยีมีผลต่อชีวิตของเราในแทบจะทุกด้าน สิ่งหนึ่งที่ทีมนักจิตวิทยาจาก มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด พบ คือ ไม่ว่ายุคสมัยหรือเทคโนโลยีจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร สิ่งที่ยังคงเดิมและยังไม่มีเทคโนโลยีใดมาแทนที่ได้ ก็คือ การเลี้ยงดูเด็กให้เติบโตขึ้นมาเป็นบุคคลที่มีคุณค่าต่อสังคม และมีความสามารถในการปรับตัวให้เข้ากับยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งไม่อาจใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยเหลือได้
แล้ววิธีการใดบ้าง ที่จะสามารถเลี้ยงเด็กยุคเทคโนโลยีนี้ให้เติบโตขึ้นมาอย่างมีศักยภาพพร้อม ๆ กับการเป็นบุคลากรที่ดีของสังคมได้ ครูพิมนำมาสรุปไว้ให้ที่นี่แล้วค่ะ
คำแนะนำนี้เป็นคำแนะนำพื้นฐานที่อาจจะได้ยินกันมานมนานหลายยุคหลายสมัย หลายคนบอกว่า ทุกวันนี้ก็ให้เวลากับลูกมากมายอยู่แล้ว เช่น ลูกก็นั่งอยู่กับฉันนะ ตอนที่ฉันกำลังส่งงานให้ลูกค้า หรือ ฉันก็ดูลูกทำการบ้าน แต่ก็แน่หละ ฉันก็ต้องทำความสะอาดครัวไปด้วย แต่คำว่า ใช้เวลากับลูก มันไม่ได้หมายถึงการอยู่ร่วมกันในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งเท่านั้น เพราะความหมายที่แท้จริงของการใช้เวลากับลูก ก็คือ การให้เวลาแบบ “วางทุกงาน” เพื่อมีปฏิสัมพันธ์กับลูกแบบ 1-1 อย่างแท้จริง ซึ่งเมื่อเราพิจารณาดี ๆ แล้ว เชื่อว่าหลาย ๆ คนอาจจะพบว่า แท้ที่จริง เรายังทำตามคำแนะนำข้อนี้ได้น้อยกว่าที่คิด
คำว่า สื่อสาร ในที่นี้ มิใช่แค่การพูดกับลูกในเรื่องทั่ว ๆ ไป และไม่ใช่แค่การดูแลใส่ใจในสุขภาวะ การกิน การนอน และการให้ความปลอดภัยเท่านั้น แต่คำว่าสื่อสารในที่นี้ คือการทำให้ลูกรู้สึกว่า พวกเขาเป็นคนสำคัญในชีวิตของเขาจริง ๆ ด้วยการกระทำและคำพูดของคุณ เพราะผลการวิจัยจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดพบว่า “พ่อแม่ส่วนใหญ่คิดว่า การดูแลลูก เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดในชีวิตของพวกเขา ในขณะที่ลูก ๆ ของพวกเขากลับไม่รู้สึกว่าพ่อแม่กำลังแสดงออกเช่นนั้น” ดังนั้น การสื่อสารที่ทำให้เกิดความเข้าใจที่ตรงกัน จึงเป็นสิ่งสำคัญต่อความสัมพันธ์ระหว่างคุณกับลูกอย่างแท้จริง
ของขวัญที่ดีที่สุดอย่างหนึ่งที่พ่อแม่จะมอบให้กับลูกได้ก็คือ การสอนให้ลูกรู้จักการวิเคราะห์และคิดแก้ปัญหาด้วยตนเอง แต่การสอนในที่นี้ คือการแสดงความไว้วางใจ และการให้โอกาสกับลูกในการคิดและตัดสินใจด้วยตนเอง ในเรื่องที่ไม่ได้ส่งผลกระทบหรือสร้างความเดือดร้อนให้กับผู้อื่น เพราะสิ่งสำคัญสำหรับเด็กในการพัฒนาตนเองก็คือ โอกาสในการสะสมประสบการณ์ ทั้งที่มาจากการตัดสินใจที่ถูกและที่ผิด จริงอยู่ที่ความสำเร็จของลูกเป็นสิ่งที่พ่อแม่ทุกคนมุ่งหวัง และการเห็นลูกทำในสิ่งที่ผิดพลาดเป็นเรื่องยากที่พ่อแม่หลายคนจะทำใจให้อยู่นิ่งเฉยได้
ริค ไวส์บอรนด์ หัวหน้าทีมวิจัยกล่าวว่า “สิ่งที่พ่อแม่ส่วนใหญ่คาดหวังก็คือ การเห็นลูก ๆ มีความสุข แต่ในขณะเดียวกัน ผลการวิจัยก็ชี้ให้เห็นด้วยว่า พ่อแม่ก็มีความคาดหวังในความสำเร็จของลูก ในระดับที่สูงพอ ๆ กัน ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าแปลกใจมาก” นอกจากนี้ เขายังทิ้งคำถามชวนคิดที่ได้จากผลการวิจัยชิ้นนี้อีกว่า “เรากำลังผลักดันให้เด็ก ๆ โฟกัสไปที่เรื่องของความสำเร็จมากเกินไปหรือเปล่า ทั้ง ๆ ที่ความกดดันเหล่านี้ เป็นสิ่งที่ให้ผลในทางลบเสียมากกว่า”
เมื่อพูดถึงคำว่า กตัญญู พ่อแม่หลายคนคงจะคิดว่า นี่มันก็คำสอนแบบไทย ๆ นี่นา ไม่คิดว่าฝรั่งมังค่าจะให้ความสำคัญกับเรื่องนี้เหมือนกันใช่ไหมล่ะคะ แต่คำว่ากตัญญูในที่นี้ ยังมีความหมายที่กว้างและครอบคลุมไปยังเรื่องราวต่าง ๆ ในชีวิตประจำวัน มากกว่าที่จะเป็นเรื่องของการกตัญญูต่อผู้มีพระคุณเท่านั้นค่ะ แต่ยังรวมถึงวิธีการที่เราปฏิบัติต่อลูกอีกด้วย เช่น การรู้จักชื่นชมเมื่อลูกช่วยเหลืองานบ้าน การแสดงความขอบคุณเมื่อลูกแสดงน้ำใจแม้เล็กน้อย เพราะการรู้จักขอบคุณ การซาบซึ้งในสิ่งที่มี และการเห็นความสำคัญของสิ่งต่าง ๆ รอบตัว จะเป็นพื้นฐานที่สำคัญให้เด็ก ๆ เติบโตขึ้นมาเป็นคนที่มีน้ำใจ เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ มีความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น และรู้จักการให้อภัย
การวิจัยพบว่า เด็ก ๆ ส่วนใหญ่มักจะเอาใจใส่และให้ความสำคัญกับคนในครอบครัวและเพื่อน ๆ ของพวกเขาเท่านั้น แต่ไม่ได้มองกว้างไปถึงการดูแลและเอาใจใส่บุคคลอื่น ๆ ที่แตกต่าง หรืออยู่ไกลออกไปจากวงโคจรของชีวิตพวกเขา ดังนั้น การให้โอกาสและการสอนให้เด็ก ๆ รู้จักความเป็นจริงของโลก รู้จักความแตกต่างระหว่างบุคคล และการเป็นคนที่เปิดกว้าง จึงเป็นพื้นฐานสำคัญของการเติบโตขึ้นไปเป็นคนที่ดีของโลกในยุคที่ไม่มีพรมแดน
แปลและเรียบเรียงจากบทความเรื่อง 5 SECRETS TO RAISING A GOOD KID, ACCORDING TO HARVARD PSYCHOLOGISTS จาก www.powerofpositivity.com
ครูพิม ณัฏฐณี สุขปรีดี
นักจิตวิทยาผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาศักยภาพเด็กเล็กและการเลี้ยงลูกเชิงบวก