Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

4 วิธีสอนลูกเล็กสร้างเพื่อน ฉบับนักจิตวิทยา

Posted By ณัฏฐณี สุขปรีดี | 19 ม.ค. 61
6,218 Views

  Favorite

หนึ่งในคำถามที่คุณพ่อคุณแม่ที่มีลูก ๆ อยู่ในวัยเตาะแตะและเตรียมอนุบาลถามครูพิมกันเข้ามาบ่อย ๆ ก็คือเรื่องของการช่วยเหลือเจ้าตัวเล็กในการ “เข้าสังคม” หรือเรียกว่าสอนให้รู้จักมีเพื่อนนั่นเองค่ะ

 

สำหรับเด็กบางคน การเข้าหาคนอื่นนั้นถือเป็นเรื่องง่าย แต่ก็มีเด็กบางกลุ่มเช่นกันที่ต้องใช้เวลาในการปรับตัวเมื่อเจอกับสถานการณ์ใหม่ ๆ หรือบุคคลใหม่ ๆ ซึ่งสำหรับเด็กในกลุ่มหลังนี้ จำเป็นจะต้องได้รับการช่วยเหลืออย่างถูกวิธี เพื่อให้การอยู่ร่วมกับผู้อื่นในวัยอนุบาลไม่กลายเป็นเรื่องน่ากลัวสำหรับพวกเขาค่ะ

 

ภาพ : Shutterstock

 

และนี่คือ 4 ขั้นตอนง่าย ๆ ที่คุณพ่อคุณแม่สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้ในสถานการณ์จริง มาทำความเข้าใจไปพร้อม ๆ กันเลยนะคะ

 

1. ใช้ความสัมพันธ์ระหว่างคุณและเพื่อนเป็นต้นแบบ

จริงอยู่ค่ะที่ว่าเรากำลังสอนลูกให้รู้จักการเข้าหาผู้อื่น แต่การสอนด้วยการเป็นตัวอย่างนั้น นับเป็นทางลัดที่ยอดเยี่ยมที่จะช่วยให้เด็ก ๆ มีความกล้าที่จะอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้ง่ายขึ้น

โดยปกติแล้วเด็กที่อยู่ในครอบครัวเล็ก ๆ และไม่ค่อยได้ออกไปพบปะผู้อื่น เด็กก็มีแนวโน้มที่จะพูดน้อย ไม่กล้าแสดงออก ในขณะที่เด็ก ๆ ที่ได้มีโอกาสพบปะเพื่อน ๆ ของคุณพ่อคุณแม่จนชินตานั้น ก็มีแนวโน้มที่จะเรียนรู้ทักษะทางสังคมได้เร็วกว่า ซึ่งแม้จะเป็นเพียงข้อสังเกต แต่ก็สามารถพูดได้ว่า ตัวอย่างที่ได้เห็นนั้นเป็นสิ่งที่มีอิทธิพลต่อความคิดของเด็ก โดยเฉพาะความตื่นเต้นเมื่อจะได้เล่นกับเพื่อน ๆ ของตัวเอง เหมือนกับที่ได้เห็นคุณพ่อคุณแม่มีความสุขเวลาได้เจอกับเพื่อน ๆ นั่นเองค่ะ

 

2. เล่าเรื่องเพื่อนหรือญาติมิตรให้เด็กฟังเสมอ

หลายคนคิดว่า เด็ก ๆ ที่ยังอยู่ในวัยสื่อสารไม่ได้ คงจะไม่เข้าใจเรื่องที่ผู้ใหญ่คุยกัน แต่อันที่จริงแล้ว เด็กนั้นฟังและจดจำสิ่งที่เราพูดคุยกันอยู่เสมอค่ะ

และด้วยเหตุนี้เอง การที่เราเล่าถึงคนนั้นคนนี้ให้ลูกฟัง จึงเป็นการสอนให้ลูกรู้จักคนอื่น ๆ ทางอ้อม ทำให้รู้จักการเชื่อมโยงหน้าตา ชื่อ ลักษณะนิสัย และเหตุการณ์ต่าง ๆ ของบุคคลนั้น ๆ เข้าด้วยกัน ทำให้ลูกได้ขยายขอบเขตของบุคคลรอบตัวได้กว้างกว่าการพูดถึงแต่เรื่องราวของคนในบ้านหรือเรื่องราวเฉพาะตัวเอง ซึ่งนับเป็นการสอนทักษะทางสังคมให้กับเด็กที่มีประสิทธิภาพอีกวิธีหนึ่งค่ะ

 

3. สร้างสถานการณ์ให้เด็กได้อยู่ร่วมกับผู้อื่นบ้าง

เด็กจะเรียนรู้เรื่องใดได้ดีก็ต่อเมื่อมีโอกาสให้ได้ทดลองและฝึกฝน เรื่องการมีเพื่อนก็เช่นกันค่ะ และสำหรับโอกาสที่ว่านี้ ก็คือการให้เด็ก ๆ ได้ใช้เวลาเล็ก ๆ น้อย ๆ ในแต่ละวันหรือแต่ละสัปดาห์ในการเล่นหรือทำกิจกรรมร่วมกับเด็กคนอื่น ๆ ในวัยเดียวกัน ทั้งกลุ่มเพื่อนบ้าน กลุ่มญาติมิตร หรือจะเป็นกลุ่มที่ไปทำความรู้จักกันใหม่ตามสถานที่ต่าง ๆ ก็ได้เช่นกัน

อย่างไรก็ตาม สำหรับเด็กเล็ก ๆ วัย 2-3 ปีนั้น ยังไม่มีความจำเป็นที่จะต้องคาดหวังให้เด็ก “เล่นด้วยกัน” อย่างเป็นจริงเป็นจัง เพราะเด็กในวัยนี้ยังมีการมองโลกแบบยึดตนเองเป็นศูนย์กลางอยู่ค่ะ การพาไปเข้ากลุ่มนั้น ก็เพียงเพื่อสร้างความคุ้นเคยกับบรรยากาศที่มีผู้อื่นอยู่ด้วย เพื่อให้เด็กไม่ต้องปรับตัวมากจนเกินไปเมื่อถึงวัยเข้าโรงเรียนนั่นเองค่ะ

 

4. ให้กำลังใจลูก

กำลังใจ ยังคงเป็นสิ่งสำคัญเสมอสำหรับเด็ก ๆ (และผู้ใหญ่) ในการทำสิ่งต่าง ๆ ให้สำเร็จ แม้แต่เรื่องของการเข้าสังคมค่ะ โดยวิธีการง่าย ๆ ที่คุณพ่อคุณแม่สามารถทำได้ ก็คือการให้รอยยิ้ม ปรบมือ รวมไปถึงการพูดชื่นชมเมื่อเด็ก ๆ เริ่มกล้าที่จะก้าวเข้าสู่สังคมใหม่มากขึ้น ซึ่งสิ่งนี้รวมถึงขั้นตอนเล็ก ๆ น้อย ๆ อย่างเช่น การที่เด็กเริ่มยอมปล่อยมือจากแม่แล้วเดินไปหาเพื่อน การแบ่งของให้ผู้อื่น หรือการเรียกชื่อเพื่อนหรือแนะนำตนเอง เหล่านี้เป็นต้นค่ะ

สิ่งเหล่านี้แม้ฟังดูเป็นเรื่องง่าย แต่สำหรับเด็ก ๆ ที่มีความขี้อายนั้น การที่จะผ่านแต่ละขั้นแต่ละตอนไปได้นั้น ไม่ใช่เรื่องหมู ๆ เลยล่ะค่ะ ดังนั้น กำลังใจจากคุณพ่อคุณแม่จึงเป็นสิ่งสำคัญมากสำหรับพวกเขา

 

การมีเพื่อน แม้ฟังดูเหมือนเป็นเรื่องง่าย ๆ แต่การรู้จักที่จะเป็นเพื่อนที่มีคุณภาพ และการมีทักษะทางสังคมที่ดีนั้น ใช่ว่าจะทำกันได้ทุกคนนะคะ ดังนั้น สิ่งสำคัญก็คือการปลูกฝังทักษะเหล่านี้ให้กับเด็ก ๆ ด้วยการเป็นตัวอย่างที่ดี และใช้วิธีการช่วยเหลืออย่างถูกต้อง ซึ่งครูพิมหวังว่า เคล็ดลับทั้ง 4 ข้อที่นำมาฝากกันนี้ จะเป็นแนวทางและจุดเริ่มต้นที่ดีให้กับทุกท่านได้นะคะ แล้วพบกันในบทความต่อไปค่ะ

 

 

 

ครูพิม ณัฏฐณี   สุขปรีดี

นักจิตวิทยาผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาศักยภาพเด็กเล็กและการเลี้ยงลูกเชิงบวก

Facebook.com/PimAndChildren

 

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • ณัฏฐณี สุขปรีดี
  • 4 Followers
  • Follow