ปัญหาที่คุณพ่อคุณแม่กังวลเกี่ยวกับการเข้าสังคมของลูกมีมากมายค่ะ ไม่ว่าจะเป็นการกลัวว่าลูกจะขี้อายเกินไป ไม่กล้าคุยหรือแสดงออก เก็บตัว ในขณะที่บางบ้านอาจจะกังวลกับการเข้ากับเพื่อนไม่ได้ ปัญหาการไม่แบ่งปัน หรือปัญหาการทะเลาะเบาะแว้ง ซึ่งมักเกิดขึ้นบ่อย ๆ กับกลุ่มเด็กผู้ชายที่เป็นลูกคนเดียว
อย่างไรก็ตาม ผลการวิจัยในปัจจุบันและผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนาการเด็กหลาย ๆ ท่าน ก็ให้ความเห็นที่ตรงกันว่า หากมีลูกคนเดียวไม่ได้เป็นอุปสรรคของการปรับตัวในการเข้าสังคมของเด็ก เพราะธรรมชาติของเด็กนั้น มีความต้องการที่จะมีเพื่อนและอยู่ร่วมกับผู้อื่นอยู่แล้ว ทั้งนี้ ปัญหาทางอารมณ์และพฤติกรรมที่เกิดขึ้นกับเด็กที่เป็นลูกคนเดียว น่าจะมีสาเหตุจากการไม่ได้รับโอกาสในการฝึกอยู่ร่วมกับผู้อื่น และไม่ได้รับการสอนที่ถูกต้องมากกว่า แต่ไม่ว่าจะเป็นปัญหาในรูปแบบใด การทำความเข้าใจและเตรียมพร้อมตั้งแต่เนิ่น ๆ ก็เป็นวิธีแก้ปัญหาที่ดีเสมอค่ะ วันนี้ครูพิมจึงมีข้อแนะนำ 6 ข้อ เพื่อส่งเสริมพัฒนาการทางสังคมให้กับลูกคนเดียวมาฝากคุณพ่อคุณแม่กันค่ะ
ด้วยลักษณะครอบครัวเดี่ยวที่มีมากขึ้นในปัจจุบัน รวมถึงการอยู่อาศัยในคอนโดหรือห้องเดี่ยวมากขึ้น ทำให้เด็ก ๆ ส่วนใหญ่ไม่ค่อยได้มีโอกาสเรียนรู้ทักษะการเข้าสังคมจนกว่าจะถึงวัยเข้าเรียน ดังนั้นวิธีหนึ่งที่จะช่วยให้เด็ก ๆ มีความคุ้นเคยกับผู้อื่นได้ดีมากขึ้น ก็คือการพาเขาพบปะกับผู้คนในวัยเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นเพื่อนบ้าน หรือการเข้ากลุ่มเด็กเล็ก (Playgroup) หรือจะเป็นการฝึกทักทายผู้คนที่คุณพ่อคุณแม่สนิทสนมคุ้นเคยก็ได้ค่ะ
ในวัยที่เด็ก ๆ เริ่มที่จะดูแลตัวเองในเบื้องต้นได้บ้างแล้ว การปล่อยให้เด็ก ๆ ได้ใช้เวลาร่วมกันอย่างอิสระในพื้นที่ที่ไม่เป็นอันตราย ก็เป็นอีกหนึ่งเทคนิคที่จะทำให้เด็ก ๆ รู้จักการเข้ากลุ่มและสร้างสังคมของตนเองค่ะ
ปัจจุบันนี้มีกิจกรรมมากมายที่สามารถช่วยให้เด็ก ๆ รู้จักการอยู่ร่วมกันกับผู้อื่นได้มากขึ้น กิจกรรมกีฬา ก็นับเป็นอีกอย่างหนึ่งที่ไม่เพียงแต่ช่วยเหลือเรื่องการเข้าสังคมให้กับเด็ก แต่ยังส่งเสริมทักษะด้านการรู้แพ้ รู้ชนะ และการทำงานเป็นทีมได้อีกด้วย
การอยู่ร่วมกับผู้อื่นอาจมีการกระทบกระทั่งกันบ้างเป็นธรรมดาค่ะ และดูเหมือนจะเป็นเรื่องธรรมดามากที่สุดสำหรับกลุ่มเด็กเล็ก ๆ แต่หากผู้ใหญ่เข้าไปช่วยเหลือหรือจัดการปัญหาให้กับเด็กอยู่ตลอดเวลา เด็กก็จะขาดทักษะในการคิดและแก้ปัญหาด้วยตนเอง นอกจากนี้ การปล่อยให้เด็กได้เรียนรู้ผลของพฤติกรรมของตนเอง ก็เป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพมากในการช่วยเหลือเด็กให้ปรับตัวและเข้าใจลักษณะนิสัยของตนเอง แต่หากเด็กเริ่มแสดงความกังวลหรือมีปัญหาที่เกินกว่าจะแก้ไขด้วยตัวเองได้ ผู้ปกครองก็ควรให้ความช่วยเหลืออย่างเหมาะสมค่ะ
หลายคนอาจจะมุ่งเป้าการพัฒนาทักษะการเข้าสังคมไปที่ตัวลูกเพียงอย่างเดียว แต่อันที่จริง การที่คุณพ่อคุณแม่มีความสัมพันธ์ที่ดีกับคุณพ่อคุณแม่ของเพื่อน ๆ ลูก ก็เป็นอีกหนึ่งวิธีที่ทำให้เด็ก ๆ เกิดความรู้สึกใกล้ชิดและเป็นกลุ่มเดียวกันมากขึ้นค่ะ
นอกจากการมีความสัมพันธ์ที่ดีกับพ่อแม่ของเพื่อนลูกแล้วนั้น การมีความสัมพันธ์ที่ดีกับเพื่อนของคุณเอง ก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลต่อการคบหาเพื่อนของเด็กเช่นกันค่ะ และโดยส่วนใหญ่แล้ว เด็ก ๆ ก็มักจะแสดงพฤติกรรมหรือมีความคิดเห็นเกี่ยวกับเพื่อนของตนเอง ไปในแนวทางเดียวกันกับที่เขาเห็นสิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ปฏิบัติต่อเพื่อน ๆ นั่นเองค่ะ
ครูพิม ณัฏฐณี สุขปรีดี
นักจิตวิทยาผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาศักยภาพเด็กเล็กและการเลี้ยงลูกเชิงบวก
Facebook.com/PimAndChildren