ทุกวันนี้หนังสือดี ๆ ถูกแทนที่ด้วยหน้าจอโทรทัศน์และสมาร์ทโฟนเป็นส่วนใหญ่ และแม้ว่าสื่อเหล่านั้นจะให้ความรู้หรือเนื้อหาที่เหมือนกับในหนังสือ แต่สิ่งที่ไม่สามารถจะทดแทนกันได้ก็คือ การกระตุ้นการทำงานของสมอง เพราะการอ่านหนังสือให้เข้าใจ ต้องอาศัยทักษะหลายด้านประกอบกันค่ะ ไม่ว่าจะเป็นการสะกดคำ (สำหรับเด็กโต) การตีความภาษา การเชื่อมโยงระหว่างคำกับภาพ การฝึกทักษะการฟัง และการจินตนาการภาพนิ่งให้เป็นเรื่องราว ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะเป็นตัวกระตุ้นการสร้างการเชื่อมโยงของเซลล์ประสาทได้เป็นอย่างดีเลยล่ะค่ะ
เด็กรุ่นใหม่มักใจร้อน รอคอยไม่เป็น เป็นหนึ่งคำนิยามที่มักจะได้ยินกันบ่อย ๆ เลยใช่ไหมล่ะคะ ส่วนหนึ่งเพราะเด็ก ๆ หลายคนขาดโอกาสในการใช้เวลากับหนังสือ เพราะหนังสือนิทานเป็นสื่อที่ต้องใช้ความใจเย็น จดจ่อ เพื่อให้เข้าใจเรื่องราวทั้งหมดที่เกิดขึ้น ยิ่งเด็ก ๆ อ่านเรื่องราวที่ยาวและซับซ้อนมากขึ้นเท่าไหร่ ก็จะช่วยเพิ่มเรื่องของสมาธิได้มากเท่านั้นค่ะ
นอกเหนือจากภาพสวย ๆ และเรื่องราวสนุก ๆ แล้ว หนังสือนิทานยังเป็นสื่อชั้นดีที่ใช้ในการเพิ่มคลังคำศัพท์ให้กับเด็ก ๆ และยังช่วยสอนโครงสร้างประโยคอย่างง่าย ๆ ให้กับเด็กได้อย่างเป็นธรรมชาติอีกด้วย
ปกติแล้ว เรื่องราวในนิทานสำหรับเด็ก มักแฝงด้วยข้อคิดและความรู้สึกของตัวละคร ซึ่งเราสามารถใช้จุดนี้เพื่อสอนเด็ก ๆ ให้เรียนรู้เกี่ยวกับพฤติกรรมที่ดีและไม่ดีผ่านตัวละครที่เด็ก ๆ ชื่นชอบได้อย่างง่าย ๆ เลยค่ะ
การใช้เวลาร่วมกันนับเป็นพื้นฐานสำคัญที่จะช่วยสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างคุณกับลูกได้ แต่ไม่ใช่ทุกกิจกรรมที่จะเรียกได้ว่าเป็นการใช้เวลาคุณภาพร่วมกัน
ครูพิม ณัฏฐณี สุขปรีดี
นักจิตวิทยาผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาศักยภาพเด็กเล็กและการเลี้ยงลูกเชิงบวก
Facebook.com/PimAndChildren