เพราะความคิดสร้างสรรค์ยังหมายรวมถึงความสามารถในการใช้ความรู้ ความสามารถในทางที่หลากหลาย ทั้งเพื่อการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ และการแก้ปัญหาโดยที่ไม่ยึดติดกับกรอบเดิม ๆ อีกด้วย ความรู้ กับ ความคิดสร้างสรรค์ จึงเป็นของที่ควรมาคู่กันมากกว่าการมองว่าอะไรเป็นเรื่องหลัก อะไรเป็นเรื่องรอง
สิ่งที่น่าดีใจก็คือ ความคิดสร้างสรรค์หรือ Creativity นั้น เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นมาพร้อม ๆ กับความเป็นเด็ก หรืออาจจะบอกว่า ธรรมชาติของเด็กก็คือ การคิดสร้างสรรค์ ก็คงจะไม่ผิดนัก
ครั้งหนึ่ง ปาโบล ปีกัสโซ (Pablo Picasso) จิตกรเอกระดับโลกเคยกล่าวไว้ว่า “เด็กทุกคนคือศิลปิน ปัญหาก็คือ เราจะทำอย่างไรให้ความเป็นศิลปินนั้นยังคงอยู่ไปจนพวกเขาเติบโต” วันนี้ครูพิมจึงมีเทคนิคง่าย ๆ ทำได้จริง 5 เทคนิค มาฝากกันค่ะ
พื้นที่สำหรับการแสดงออกด้านความคิดสร้างสรรค์ เป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญที่ทำให้เด็ก ๆ ยังคงใช้ความสามารถที่มีมาตามธรรมชาตินี้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งพื้นที่ที่ว่านี้ ไม่จำเป็นต้องเป็นห้องส่วนตัว หรือเต็มไปด้วยสิ่งของหรือเครื่องใช้มากมายพร้อมสรรพ เพียงแต่เป็นพื้นที่เล็ก ๆ ให้เด็กได้ใช้ความคิดของตัวเองในการสร้างสรรค์สิ่งต่าง ๆ ในแต่ละวัน เช่น โต๊ะสำหรับเล่นตัวต่อ กระดาษและสีสำหรับวาดภาพ ชุดแต่งตัวตุ๊กตา หรือของเล่นประเภทบทบาทสมมติ เพียงเท่านี้ก็เป็นอุปกรณ์ที่ดีที่จะสร้างพื้นที่สำหรับความคิดสร้างสรรค์ให้เด็ก ๆ ได้แล้วหละค่ะ
เทคนิคนี้นอกจากจะไม่ต้องลงทุนอะไรแล้ว ยังเป็นสิ่งที่ช่วยสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างคุณกับลูกได้ด้วยหละค่ะ วิธีการก็ง่ายมาก เพียงแค่คุณจัดสรรเวลาส่วนหนึ่งในแต่ละวันสำหรับการ “เล่นอะไรก็ได้” กับลูก ไม่ต้องมีแผน ไม่ต้องมีอุปกรณ์ มีแค่คุณกับลูก แล้วปล่อยให้เด็ก ๆ เป็นผู้นำกิจกรรม เท่านี้ก็จะช่วยกระตุ้นให้เด็ก ๆ รู้จักใช้ความคิดสร้างสรรค์ได้แล้วค่ะ
ประสบการณ์ที่หลากหลาย เป็นอีกหนึ่งวิธีการที่จะช่วยส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ให้กับเด็ก ๆ ซึ่งการมีประสบการณ์หลากหลายนั้น ไม่จำเป็นว่าจะต้องมาจากการท่องเที่ยวหรูหราราคาแพง หรือการซื้อของเล่นให้ลูกแบบทุ่มไม่อั้น หากว่าคุณมีข้อจำกัดในด้านทุนทรัพย์ การพาเด็ก ๆ ออกไปเดินเล่น การเปลี่ยนสถานที่ทำกิจกรรม เปลี่ยนที่อ่านหนังสือ หรือแม้แต่การชวนลูกสังเกตสิ่งต่าง ๆ รอบตัว เช่น ฟังเสียง ดมกลิ่น สังเกตสีสันรูปทรง ก็เป็นการกระตุ้นประสาทสัมผัสของลูกได้เป็นอย่างดีแล้วค่ะ
การชวนเด็ก ๆ คุยนั้น เป็นหนึ่งในกิจกรรมที่ครูพิมชอบมากทีเดียว เพราะนอกจากจะช่วยให้เด็ก ๆ รู้จักใช้ความคิดแล้ว หลาย ๆ ครั้งคำตอบของเด็ก ๆ ก็เป็นสิ่งที่สร้างความบันเทิงให้กับเราไม่น้อย หากใครมีเวลาพอที่จะคุยกับเด็ก ๆ หละก็ จะสังเกตได้เลยว่าไอเดียที่เด็ก ๆ พรั่งพรูออกมานั้น มักจะปนไปด้วยความขำขัน และมุมมองที่ผู้ใหญ่อย่างเราบางครั้งก็นึกไม่ถึงเลยหละค่ะ และการที่มีผู้ใหญ่อย่างเราช่วยคิด ช่วยถาม ก็เป็นวิธีการต่อยอดความคิดให้กับเด็ก ๆ ได้อย่างดีนั่นเองค่ะ
ข้อนี้ไม่เกี่ยวกับเด็ก ๆ โดยตรง แต่เป็นสิ่งที่สำคัญไม่แพ้กับการส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ให้กับเด็ก ๆ เลยหละค่ะ เพราะการที่คุณพ่อคุณแม่ให้เวลาตัวเองเพื่อสร้างสรรค์สิ่งต่าง ๆ นั้น นอกจากจะเป็นตัวอย่างให้กับเด็ก ๆ แล้ว ยังเป็นการผ่อนคลายตัวเองไปในตัวด้วย และแน่นอนว่า เมื่อพ่อแม่อย่างเรามีไอเดียที่สร้างสรรค์ในหัว การถ่ายทอดไอเดียนี้ให้กับเด็ก ๆ ก็จะเป็นเรื่องที่ไม่ยากสำหรับเราอีกต่อไปค่ะ
ครูพิม ณัฏฐณี สุขปรีดี
นักจิตวิทยาผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาศักยภาพเด็กเล็กและการเลี้ยงลูกเชิงบวก