ความวิตกกังวลต่อการแยกจาก เป็นพฤติกรรมหรืออาการที่เกิดขึ้นได้ในเด็กวัย 1-3 ปี โดยเฉพาะเมื่อต้องแยกจากผู้ปกครองหรือคนใกล้ชิดเป็นเวลานาน เช่น พ่อแม่ไม่อยู่บ้าน การเปลี่ยนพี่เลี้ยงกะทันหัน และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง การไปโรงเรียน ซึ่งการแยกจากนี้ทำให้เด็ก ๆ รู้สึกเครียด กังวล และเกิดความกลัวโดยเฉพาะเมื่อการแยกจากนั้นเป็นไปอย่างกะทันหันหรือไม่มีการเตรียมตัวมาก่อน แต่โดยปกติแล้วอาการเหล่านี้จะหายไปเองเมื่อเด็กเริ่มปรับตัวได้ หรือเมื่อสภาพแวดล้อมใหม่และการแยกจากนั้นไม่ได้สร้างความรู้สึกในทางลบให้กับเด็ก
โดยการเตรียมตัวที่คุณพ่อคุณแม่สามารถทำได้ ก็เช่น การบอกกล่าวกับเด็กล่วงหน้าถึงความเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้น เช่น การไปโรงเรียนคืออะไร เมื่อไปโรงเรียนแล้วจะเจอใครบ้าง จะต้องทำอะไร สิ่งที่จะเกิดขึ้นคืออะไร พยายามพูดให้เด็กเห็นภาพ และคอยสนับสนุนทางอารมณ์เด็กอยู่เสมอ พยายามเสริมแรงเด็กด้วยคำพูดทางบวก ไม่ควรขู่ และไม่ควรผลักดันจนเด็กไม่กล้าแสดงความรู้สึกกังวลให้เราได้ทราบ
เมื่อเด็กต้องไปโรงเรียน หรือเมื่อมีเหตุจำเป็นให้เด็กต้องเปลี่ยนแปลงกิจวัตรประจำวัน ผู้ปกครองควรเริ่มฝึกให้เด็ก ๆ ปรับตัวเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงเหล่านั้นตั้งแต่เนิ่น ๆ เช่น การปรับเวลานอน ปรับมื้ออาหาร ฝึกกิจกรรมให้เด็กได้ทำร่วมกับผู้อื่นเป็นระยะเวลาสั้น ๆ ก่อนเพิ่มระยะเวลาให้นานขึ้น เพื่อให้เด็กสามารถปรับตัวและสร้างความคุ้นเคยในการอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้อย่างเป็นธรรมชาตินั่นเองค่ะ
สิ่งใด ๆ ก็ไม่สำคัญไปกว่าการสนับสนุนทางใจจากพ่อแม่ และการให้เวลากับเด็ก ๆ ในการปรับตัวอย่างเหมาะสม ซึ่งเด็กแต่ละคนนั้นอาจใช้เวลาในการปรับตัวกับสิ่งใหม่ ๆ และการแยกจากไม่เท่ากัน โดยในครั้งแรก ๆ คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรที่จะใช้วิธี “ชิ่ง” เพื่อให้ลูกเกิดความแข็งแกร่ง ร้องไห้หนักจนหยุดไปเอง เพราะการทำเช่นนี้ไม่เพียงแต่จะไม่ช่วยให้เด็กปรับตัวได้แล้ว ยังอาจส่งผลให้เด็กเกิดความรู้สึกกังวลอย่างสูงจนมีปัญหาพฤติกรรมตามมาในภายหลังได้ค่ะ
ครูพิม ณัฏฐณี สุขปรีดี
นักจิตวิทยาผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาศักยภาพเด็กเล็กและการเลี้ยงลูกเชิงบวก