Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

ความผิดพลาด 5 ประการในการเลี้ยงดูลูกที่พ่อแม่ควรระวัง

Posted By ณัฏฐณี สุขปรีดี | 27 ม.ค. 66
5,461 Views

  Favorite

“ไม่มีพ่อแม่คนไหนไม่รักลูก” เราคงจะคุ้นเคยกับประโยคนี้กันดีใช่ไหมล่ะคะ และครูพิมเองก็คิดว่า คำกล่าวนี้ไม่ได้ผิดแต่อย่างใด เพียงแต่อาจจะยังไม่ถูกต้องไปเสียทั้งหมด

 

 

 
แม้ว่าพ่อแม่จะมีความรักให้กับลูก แต่หากความรักนั้นถูกถ่ายทอดไปด้วยความไม่เข้าใจหรือเข้าใจผิด ๆ ก็อาจกลับกลายเป็นการทำลายลูกได้โดยไม่รู้ตัว 
 
ประเด็นสำคัญก็คือ รูปแบบการเลี้ยงดูที่ไม่ถูกต้องบางอย่างนั้น ไม่เพียงแต่ส่งผลกระทบต่อตัวพ่อแม่เองเท่านั้น (เช่น ต้องเหนื่อยเกินความจำเป็น หรือทำให้ไม่สามารถปกครองลูกได้) แต่พฤติกรรมหลาย ๆ อย่างยังส่งผลกระทบโดยตรงต่อการเจริญเติบโต และการใช้ชีวิตของเด็กในอนาคตอีกด้วย ในบทความนี้ ครูพิมจะขออนุญาตกล่าวถึงความผิดพลาดที่มักจะเกินขึ้นโดยไม่รู้ตัว 5 ประการด้วยกันค่ะ
 
ภาพ : Shutterstock

 

 

1) ทำแทนลูกมากจนเกินไป

ความรักของพ่อแม่ หลาย ๆ ครั้งก็มักถ่ายทอดออกไปด้วยการปกป้อง ดูแล ซึ่งก็ไม่ผิดนักหากว่า การดูแลของเรานั้น ไม่ได้มากเกินไปจนถึงขั้นทำให้ลูกไม่สามารถที่จะดูแลตัวเองได้ และไม่เพียงแต่การ “ลงมือทำ” สิ่งต่าง ๆ แทนลูกเท่านั้น เพราะเมื่อเราทำจนเคยชิน หลาย ๆ ครั้งจึงก้าวไปถึงขั้น “คิดและตัดสินใจ” แทนลูกอีกด้วย

 

ซึ่งสิ่งเหล่านี้ แม้เด็กอาจจะรู้สึกถึงความสะดวกสบายและปลอดภัยในช่วงแรก ๆ ของชีวิต แต่เมื่อเติบโตขึ้น พฤติกรรมเหล่านี้ของพ่อแม่อาจจะส่งผลให้เด็กรู้สึกถึงความด้อยคุณค่า รู้สึกว่าตนไม่มีความสามารถ ไม่กล้าแสดงออก และไม่เป็นตัวของตัวเองค่ะ

 

2) ไม่ฟังลูก

หลาย ๆ ครั้ง ความเป็นพ่อแม่ ทำให้เรารู้สึกมีอำนาจและเหนือกว่าลูก จนลืมไปว่าลูกหรือเด็ก ๆ เองก็มีความต้องการหรือมีความคิดบางอย่างเป็นของตนเองเช่นกัน การรับฟังลูก จะเป็นวิธีการหนึ่งที่ทำให้เราได้เข้าใจและช่วยเหลือลูกได้อย่างตรงจุด โดยเฉพาะเมื่อลูกเกิดปัญหาขึ้นในชีวิต
 
แต่การที่พ่อแม่คิดว่าตนเองรู้ทุกอย่างเกี่ยวกับลูกโดยไม่จำเป็นต้องฟังลูกนั้น อาจทำให้พลาดสิ่งที่สำคัญ หรือไม่สามารถช่วยเหลือหรือแก้ปัญหาให้ลูกได้อย่างทันเวลา และยังอาจเป็นสาเหตุที่ทำให้ลูกหันไปพึ่งพาบุคคลอื่นมากกว่าก็เป็นได้ค่ะ
 

3) เปรียบเทียบลูกตนเองกับลูกคนอื่น

ข้อผิดพลาดประการหนึ่งที่พ่อแม่มักจะทำก็คือ การเปรียบเทียบลูกตนเองกับลูกคนอื่น หรือแม้แต่เปรียบเทียบระหว่างลูกแต่ละคน โดยหวังว่าจะให้ลูกที่ด้อยกว่านั้นปรับปรุงตัวขึ้น ซึ่งความเชื่อนี้ไม่เพียงแต่จะไม่ได้ผลตามที่พ่อแม่ต้องการเท่านั้น แต่ยังส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างคุณกับลูก และระหว่างลูก ๆ แต่ละคนได้อีกด้วย 
 

4) ไม่มีความคงเส้นคงวา

พ่อแม่หลาย ๆ คนมักมีการตั้งกฎ กติกา หรือข้อจำกัดบางอย่างไว้ให้กับลูก แต่กฎระเบียบที่ตั้งขึ้นนั้น กลับมีความไม่คงเส้นคงวา มีการนำมาใช้ในบางกรณี แต่กลับไม่ใช้ในบางกรณีโดยไม่มีเหตุผลที่ดีหรือเหมาะสมให้กับลูก  หรือบางครั้งก็เป็นกฎที่ตั้งขึ้นโดยที่พ่อแม่ไม่สามารถทำให้เห็นหรือทำเป็นตัวอย่างได้ ซึ่งทำให้กฎหรือกติกาที่ตั้งขึ้นนั้น ไม่มีความน่าเชื่อถือและไม่ได้ผล

 

5) ไม่สื่อสารกับลูกอย่างตรงไปตรงมา

รูปแบบการสื่อสารอย่างหนึ่งที่ทำให้เกิดความเข้าใจผิดและทำลายความสัมพันธ์ได้ ก็คือการสื่อสารที่ไม่ตรงไปตรงมา ไม่ว่าจะในทางบวกหรือทางลบ เช่น พ่อแม่มักจะไม่ชมลูกตรง ๆ เพราะกลัวลูกจะเหลิง แต่กลับใช้คำที่ก่อให้เกิดความรู้สึกทางลบแทน เช่น “ทำให้ได้แบบนี้ไปตลอดก็แล้วกัน” หรือ “ทำเรื่องดี ๆ กับเขาได้ด้วยหรือ”
 
ซึ่งภาษาที่ใช้ในการสื่อสารในลักษณะนี้ ไม่ได้ส่งเสริมให้เกิดความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างคุณกับลูกแต่อย่างใด และการสื่อสารในทางบวกก็ไม่ใช่สิ่งที่จะทำให้เด็กเหลิง หากว่าคำชมหรือคำพูดในทางบวกนั้น มีความสอดคล้องกับพฤติกรรมหรือผลงานที่เด็กได้ทำจริง ซ้ำยังจะเป็นการเสริมแรงให้เด็กทำพฤติกรรมที่ดีนั้นต่อไปอีกด้วยค่ะ

 

ความรักของพ่อแม่จะถูกถ่ายทอดไปยังลูกได้มากน้อยแค่ไหน อาจจะไม่ได้ขึ้นอยู่กับปริมาณความรัก (ซึ่งครูพิมเชื่อว่าพ่อแม่ทุกคนมีอย่างล้นเหลือ) แต่สิ่งที่สำคัญไม่แพ้กันก็คือ วิธีการถ่ายทอดความรักนั้นไปยังลูกอย่างถูกต้อง เหมาะสม และสอดคล้องกับความเข้าใจของเด็กนั่นเองค่ะ

 
 
เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • ณัฏฐณี สุขปรีดี
  • 4 Followers
  • Follow