หลาย ๆ ครอบครัวอาจคิดว่า ถ้าเราสนิทและผูกพันกับลูกมากเกินไป จะทำให้ลูกทำอะไรไม่เป็น ช่วยเหลือตนเองไม่ได้ จนทำให้เราพยายามที่จะผลักให้ลูกออกห่างจากเราโดยไม่รู้ตัว ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้ว การสร้างความผูกพันกับการตามใจลูกนั้น เป็นคนละประเด็นกันเลยหละค่ะ
ดร.เดโบร่าห์ แมคนามารา กล่าวว่า “การใช้เวลาสร้างความผูกพันกับลูกมาก ๆ นั้น ไม่ได้ทำให้เด็กมีพัฒนาการล่าช้าแต่อย่างใด ในทางตรงกันข้าม มันคือเชื้อเพลิงที่ช่วยให้เด็กเติบโตขึ้นอย่างมั่นคงและแข็งแรงต่างหาก” ครูพิมเองก็เห็นด้วยและสนับสนุนความคิดนี้เช่นเดียวกันค่ะ นอกจากนี้ความผูกพันยังเป็นส่วนหนึ่งของพัฒนาการที่เกิดขึ้นเป็นปกติตามช่วงวัย ซึ่งคุณพ่อคุณแม่ควรทำความเข้าใจไว้ตั้งแต่เนิ่น ๆ เพื่อที่จะได้วางแผนสร้างความสัมพันธ์กับลูกได้อย่างถูกต้อง ถ้าอย่างนั้น เรามาทำความเข้าใจกับเรื่องของ “ความผูกพัน” นี้ไปด้วยกันเลยนะคะ
โดยปกติแล้วเด็ก ๆ วัย 0-3 ปี จะผูกพันหรือติดผู้เลี้ยงค่อนข้างมาก โดยจะแสดงอาการไม่อยากห่าง งอแงเมื่อไม่ได้อยู่กับคนที่สนิท รู้สึกไม่มีความสุข ไม่เป็นตัวของตัวเองเวลาไม่มีพ่อแม่อยู่ใกล้ ๆ หรือบางครั้งอาจจะแสดงอาการหวงเมื่อพ่อหรือแม่ไปเล่นหรือไปอยู่ใกล้เด็กคนอื่น ๆ
ซึ่งอาการเหล่านี้ เกิดขึ้นเนื่องจากเด็ก ๆ วัยนี้ยังต้องพึ่งพาพ่อแม่อยู่มาก ทั้งในด้านอาหารการกิน การนอน การดูแลความปลอดภัย และการเป็นที่พึ่งทางใจที่สำคัญสำหรับพวกเขา โดยปกติแล้วเด็ก ๆ จะยังคงแสดงอาการเหล่านี้อยู่บ้าง จนกระทั่งเข้าสู่ช่วง 6-7 ปี จึงจะเริ่มแสดงความเป็นตัวของตัวเองและรับผิดชอบตัวเองได้ค่ะ
โดยปกติแล้ว เด็กเล็ก ๆ จะไม่เข้าใจหรือไม่สามารถบอกเราให้รับรู้ได้โดยตรงว่าเขารู้สึกขาดความรักหรือรู้สึกต้องการความผูกพันที่มากขึ้น เด็ก ๆ กลุ่มนี้จึงมักแสดงออกในเชิงพฤติกรรมมากกว่าการพูดออกมาตรง ๆ
เรามาลองดูกันนะคะว่า อาการอะไรบ้าง ที่เด็ก ๆ แสดงและอาจบ่งบอกให้รู้ว่าเขากำลัง “ขาดความอบอุ่น” ซึ่งเราในฐานะพ่อแม่ จำเป็นที่จะต้องเข้าใจสัญญาณเหล่านี้ เพื่อที่จะได้ช่วยเหลือและเติมเต็มเด็ก ๆ ได้อย่างทันท่วงทีนั่นเองค่ะ
1. เด็กแสดงความพยายามอย่างมากที่จะทำดี พยายามที่จะใกล้ชิด เอาใจ หรืออวดความสามารถให้พ่อแม่หรือครูได้เห็น
2. เด็กพยายามทำตัวให้โดดเด่นด้วยแนวทางของตัวเอง เช่น รังแกผู้อื่น ยอมเป็นตัวตลก หรือทำตัวให้เป็นที่รักของกลุ่มเพื่อนด้วยวิธีการที่ไม่เหมาะสม
3. พยายามแข่งขันกับเพื่อนหรือเด็กคนอื่นอยู่เสมอ กลัวการพ่ายแพ้อย่างมาก
4. พยายามไม่ทำผิด ไม่ขัดใจหรือไม่ทำให้ผู้อื่นโกรธ ยอมตามผู้อื่นจนไม่เป็นตัวของตัวเอง
พฤติกรรมเหล่านี้ แม้บางอย่างจะแตกต่างกันสุดขั้ว เช่น การทำตัวให้ดี กับ การทำตัวเกเร แต่อันที่จริงแล้ว สิ่งที่เด็กต้อง “พยายาม” อย่างมากนี้ ไม่ว่าจะเป็นพฤติกรรมในทางบวกหรือลบ ต่างก็เป็นสัญญาณที่แสดงให้เห็นถึงความต้องการการสนใจได้เช่นเดียวกันค่ะ ซึ่งความรู้สึกขาดนี้ นอกจากจะไม่ได้ทำให้เด็กรู้สึกเข้มแข็งหรือพึ่งพาตัวเองได้อย่างที่หลาย ๆ คนเข้าใจผิดแล้ว ความรู้สึกขาดเหล่านี้ ยังส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตและการตัดสินใจของเด็กในอนาคต โดยเฉพาะในการสร้างความสัมพันธ์กับคนอื่น ๆ อีกด้วย
ครูพิม ณัฏฐณี สุขปรีดี
นักจิตวิทยาผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาศักยภาพเด็กเล็กและการเลี้ยงลูกเชิงบวก
Facebook.com/PimAndChildren