Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

Time-Out ผิด ชีวิต (ลูก) เปลี่ยน

Posted By ณัฏฐณี สุขปรีดี | 13 มิ.ย. 60
8,025 Views

  Favorite

หากจะพูดคุยกันถึงเรื่องการจัดการกับพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ของเด็ก ๆ ครูพิมเชื่อว่า คำว่า “Time-Out” คงจะเป็นหนึ่งในสิ่งที่คุณพ่อคุณแม่หลาย ๆ คนนึกถึง และเลือกที่จะนำมาใช้ใช่ไหมล่ะคะ

 

แม้ในปัจจุบัน วิธีการ Time-Out จะเริ่มถูกแทนที่ด้วยคำว่า Time-In กันมากขึ้นแล้ว แต่ความเข้าใจผิด ๆ เกี่ยวกับเรื่อง Time-Out ก็ยังคงมีให้เห็นกันอยู่ ในบทความนี้ ครูพิมจึงอยากชักชวนคุณพ่อคุณแม่มาเข้าใจถึงที่มาและวิธีการของ Time-Out อย่างถูกต้องกันก่อนค่ะ

 

ภาพ : Shutterstock

 

ดร.แดเนียล ซีเกล และ ดร.ทีน่า ไบรสัน ผู้เชี่ยวชาญประจำคณะแพทยศาสตร์ UCLA กล่าวว่า “Time-Out ที่คนส่วนใหญ่เข้าใจและนำไปใช้นั้น มักทำให้เด็กเกิดรู้สึกโกรธและมีอารมณ์ขุ่นมัวมากขึ้น การปล่อยให้เด็กอยู่คนเดียวหรือการเข้ามุม เพื่อพิจารณาความผิดของตัวเองนั้น ไม่ได้ทำให้เด็กคิดเช่นนั้น ในทางตรงกันข้าม เด็กกลับใช้เวลานี้คิดว่าทำไมพ่อแม่ถึงได้ใจร้าย และทำโทษพวกเขาได้เจ็บปวดขนาดนี้”

 

เช่นเดียวกับผู้เชี่ยวชาญอีกจำนวนมากที่กล่าวว่า ความรู้สึกที่เกิดขึ้นกับเด็กเมื่อถูกทำ Time-Out อย่างผิด ๆ ก็คือ ความรู้สึกถูกทอดทิ้ง รู้สึกขาดความรัก และเต็มไปด้วยความรู้สึกกลัว เพราะสำหรับเด็กแล้ว พ่อแม่หรือผู้ใกล้ชิด เป็นที่พึ่งอย่างเดียวที่พวกเขามี เด็ก ๆ มองว่า พวกเขาต้องพึ่งพาผู้ใหญ่ทั้งเรื่องอาหารการกิน ที่พักอาศัย และการเลี้ยงดูในเรื่องอื่น ๆ ซึ่งเป็นสิ่งที่พวกเขาไม่สามารถจัดการได้ด้วยตนเอง การที่พ่อแม่ทำโทษเด็กด้วยวิธีการนี้ จึงทำให้เด็ก ๆ เกิดความรู้สึกอย่างรุนแรงถึงความไม่ปลอดภัยและไร้ที่พึ่ง

 

ในความเป็นจริงแล้ว วิธีการทำ Time-Out นั้น ไม่ได้มีจุดประสงค์เพื่อเป็นการลงโทษหรือทำให้เด็ก “สำนึกผิด” ในทางตรงกันข้าม การทำ Time-Out ที่ถูกต้องจะต้องช่วยให้เด็กสงบสติอารมณ์ของตัวเองได้มากขึ้น และสามารถกลับมาอยู่ในสภาวะปกติได้อย่างรวดเร็วที่สุด การทำ Time-Out จึงไม่ได้ขึ้นอยู่กับเวลาที่นานอย่างที่หลาย ๆ คนเข้าใจกันนั่นเองค่ะ

 

สำหรับวิธีการทำ Time-Out ที่ถูกต้องนั้น The American Academy of Pediatrics (AAP) ระบุว่า ประเด็นสำคัญของการทำ Time-Out ก็คือ การจัดการในทันทีที่เด็กมีพฤติกรรมไม่พึงประสงค์ ด้วยการเพิกเฉยต่อพฤติกรรมนั้น ซึ่งพวกเขาใช้คำว่า “การทำให้เกิดความเงียบ” นั่นเอง เนื่องจากการ Time-Out  (ที่ถูกต้อง) คือ การนำเด็กออกมาจากการได้รับแรงเสริมทางบวก หรือแยกออกมาจากสถานการณ์ที่ทำให้เด็กเกิดปัญหาพฤติกรรม ซึ่งไม่ได้หมายถึงการลงโทษหรือการเข้ามุมอย่างที่เราเข้าใจกันแต่อย่างใด

 

อันที่จริงแล้ว ครูพิมเชื่อว่าพ่อแม่ทุกคนรักและปรารถนาดีต่อลูกอย่างจริงใจ และไม่มีใครที่ต้องการจะทำร้ายหรือทำให้ลูกเกิดความรู้สึกที่ไม่ดี ดังนั้นความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับวิธีการจัดการกับพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ของลูกให้ได้ผลและถูกต้องเหมาะสม จึงเป็นอีกหนึ่งสิ่งที่สำคัญไม่แพ้การแสดงความรักกับพวกเขาเลยล่ะค่ะ 

 

ครูพิมหวังว่าบทความในวันนี้ จะเป็นประโยชน์กับคุณพ่อคุณแม่ทุกท่านได้ไม่มากก็น้อยนะคะ แล้วพบกันใหม่ในบทความต่อ ๆ ไปค่ะ

 

 

ครูพิม ณัฏฐณี   สุขปรีดี

นักจิตวิทยาผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาศักยภาพเด็กเล็กและการเลี้ยงลูกเชิงบวก

Facebook.com/PimAndChildren

 

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • ณัฏฐณี สุขปรีดี
  • 4 Followers
  • Follow