เทศกาลไหว้บ๊ะจ่าง เป็นอีกหนึ่งเทศกาลสำคัญของพี่น้องชาวจีนทั่วโลกที่ปฏิบัติสืบทอดกันมาตั้งแต่สมัยโบราณ ตรงกับวันที่ 5 เดือน 5 ตามปฏิทินทางจันทรคติจีนของทุกปี หรือที่เรียกว่า "โหวเหว่ยโจ่ย" (โหว แปลว่า 5, เหว่ย แปลว่า เดือน, โจ่ย แปลว่า เทศกาล หรือเรียกว่าเทศกาลเดือนห้าก็ได้)
จากการค้นคว้าและสืบหาในหลายแหล่งข้อมูลทำให้พอจะสรุปได้ว่าตำนาน "บ๊ะจ่าง" ของชาวจีนแผ่นดินใหญ่นั้นจะมีความแตกต่างจากตำนานของชาวจีนแต้จิ๋วที่อพยพมาตั้งถิ่นฐานในเมืองไทยตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันค่อนข้างมาก เรื่องราวที่มาของเทศกาลบ๊ะจ่างจากประเทศจีนนั้น เกิดขึ้นเพื่อเป็นการรำลึกถึงนักกวีผู้มีความสามารถและยังเป็นขุนนางผู้ซื่อสัตย์ รักชาติ จงรักภักดี ยึดถือคุณธรรม และชอบช่วยเหลือชาวบ้านแห่งรัฐฉู่ ชื่อ ชูหยวน (Qu Yuan)
ชูหยวน ถูกขุนนางกังฉินใส่ร้ายจนถูกปลดออกจากตำแหน่งและถูกเนรเทศออกนอกเมือง หลังจากนั้นไม่นาน รัฐฉู่ภายใต้การปกครองของกษัตริย์ผู้หูเบาและขุนนางทรราชจึงถูกโจมตีโดยรัฐฉินที่เข้มแข็งกว่าจนล่มสลายในที่สุด ทำให้ชูหยวนเสียใจเป็นอย่างมาก จึงคิดแต่งบทกวีพรรณาความน้อยเนื้อต่ำใจที่ถูกใส่ร้ายจนต้องสิ้นชาติ แล้วคิดสั้นกระโดดน้ำฆ่าตัวตายที่แม่น้ำเปาะล่อกัง (บางตำรากล่าวว่าเป็นแม่น้ำแยงซีเกียง) ในวันที่ 5 เดือน 5 นั่นเอง
เมื่อชาวบ้านที่ประทับใจความซื่อสัตย์และรักชาติของชูหยวนทราบเรื่อง จึงพากันห่อเสบียงออกเรือเพื่อตามหาและนำร่างของเขากลับมาประกอบพิธีให้อย่างสมเกียรติ ระหว่างทางก็นำเสบียงที่นำติดตัวมาหย่อนลงในน้ำเพื่อหวังให้ พวกปู ปลากิน จะได้ไม่ไปกัดกินสร้างความเสียหายให้ร่างไร้วิญญาณของชูหยวน จากนั้นทุกปีเพื่อเป็นการระลึกถึงความดีของกวีผู้รักชาติ เมื่อถึงวันที่ 5 เดือน 5 ชาวบ้านจะนำอาหารโปรยลงในแม่น้ำเปาะล่อกังเพื่อเป็นการเซ่นไหว้ดวงวิญญาณ
สองปีต่อมา มีชาวบ้านผู้หนึ่งฝันว่าชูหยวนมาหาในเครื่องแต่งกายที่งดงาม และมาขอบคุณที่ชาวบ้านต่างนำอาหารมาเซ่นไหว้ตน แต่อาหารที่โปรยลงไปในน้ำนั้นกลับกลายเป็นอาหารของกุ้งปลาทั้งหลาย ชูหยวนจึงแนะนำกับชาวบ้านผู้นั้นว่า ให้นำอาหารห่อด้วยใบไผ่ก่อนโยนลงน้ำ ในปีถัดมาชาวบ้านจึงทำตามคำแนะนำของชูหยวน แต่ชูหยวนก็กลับมาเข้าฝันอีกครั้งบอกว่า ครั้งนี้เขาได้รับเครื่องเซ่นมากกว่าเดิม แต่ก็ยังถูกสัตว์น้ำแย่งไปกินบางส่วนอยู่ดี ชาวบ้านอยากให้ชูหยวนได้กินเครื่องเซ่นอย่างอิ่มหนำสำราญ จึงขอคำแนะว่าควรทำอย่างไร เขาจึงแนะนำเพิ่มเติมว่า หลังจากที่ห่ออาหารด้วยใบไผ่แล้ว ให้นำลงใส่เรือที่ตกแต่งเป็นรูปมังกรก่อนลอยลงในแม่น้ำ เมื่อเหล่าสัตว์น้ำเห็นจะเข้าใจว่าเป็นเครื่องเซ่นไหว้พญามังกร จะได้ไม่กล้ากิน จากเรื่องราวนี้จึงทำให้เกิดเทศกาลไหว้บ๊ะจ่าง และประเพณีแข่งเรือมังกรที่ประเทศจีน ฮ่องกง ไต้หวัน และมาเก๊า ซึ่งเฉลิมฉลองและจัดอย่างยิ่งใหญ่ทุกปีในวันที่ 5 เดือน 5 นั่นเอง
แต่ในประเทศไทยไม่มีการจัดแข่งเรือมังกร เพราะตามตำนานของชาวจีนแต้จิ๋วที่อพยพย้ายถิ่นฐานมาอยู่ประเทศไทย กลับกล่าวว่าตำนานบ๊ะจ่างนั้นเกิดขึ้นในยามบ้านเมืองกำลังมีภัยจากสงคราม ยามออกรบเสบียงของทหารจะทำจากข้าวเหนียวและห่อในใบไผ่ให้แน่นเพื่อเก็บไว้กินได้นาน ๆ เมื่อข้าศึกฝ่ายตรงข้ามแฝงกายเข้ามาเป็นสายลับเพื่อหาทางโจมตีเมือง เหล่าทหารที่ทราบเรื่องจึงใช้วิธีเขียนสาส์นลับ วางแผนกลศึกต่าง ๆ ใส่จดหมายแล้วยัดลงในบ๊ะจ่างแทนการส่งโดยนกพิราบเพื่อลวงข้าศึก และรักษาความลับทางการทหารไว้ไม่ให้ข้าศึกไหวตัวทัน จนบ้านเมืองพ้นวิกฤต สามารถปราบไส้ศึก ชนะสงคราม และกลับมาสงบสุขดังเดิม
ชาวเมืองจึงสำนึกในบุญคุณและยกให้บ๊ะจ่างเป็นของศักดิ์สิทธิที่นำความสงบสุขกลับมาให้แก่บ้านเมือง เมื่อถึงวันที่ 5 เดือน 5 ของทุกปีชาวบ้านจึงผูกบ๊ะจ่างเพื่อทำการสักการะกราบไหว้เทพเจ้าและบรรพบุรุษ เพื่อขอบคุณที่ช่วยให้ครอบครัวอยู่เย็นเป็นสุขสืบต่อกันมา
วัตถุดิบหลักของการทำบ๊ะจ่างคือ ใบไผ่ ข้าวเหนียว เนื้อหมูปรุงรส ไข่เค็มแดง และถั่วลิสง เริ่มต้นด้วยการนำข้าวเหนียวดิบแช่น้ำค้างคืนก่อนนำมาผัดกับไชโป้วสับที่ทอดน้ำมันแล้ว จากนั้นใส่ถั่วลิสง กุ้งแห้งทอด และกระเทียม ปรุงรสด้วยผงพะโล้ พริกไทย เกลือ และซีอิ๊วขาว ผัดต่อไปจนข้าวเหนียวสุกแล้วนำมาห่อด้วยใบไผ่เป็นทรงสามเหลี่ยม ใส่หมูที่หมักเรียบร้อยแล้ว กุนเชียง ไข่เค็มแดง เห็ดหอม แปะก้วย จัดเรียงให้สวยงามแล้วใช้ใบไผ่ที่เหลือห่อจนมิด จากนั้นผูกเชือกแล้วนำไปนึ่งจนส่วนที่เป็นเนื้อสัตว์สุกพอดี หากใส่เผือกกวนเพิ่มเข้าไปก็จะได้บ๊ะจ่างไส้หวาน ที่สำคัญใบไผ่ที่นำมาใช้ห่อบ๊ะจ่าง ต้องเป็นไผ่พันธ์ุที่มีใบขนาดใหญ่เป็นเอกลักษณ์ ต้อง import มาจากประเทศจีนเท่านั้น
การเซ่นไหว้บ๊ะจ่างจะทำในช่วงเช้าเท่านั้น โดยส่วนใหญ่จะใช้ไหว้เจ้าอย่างเดียว ทั้งเจ้าที่ในบ้าน หรือเจ้าแม่กวนอิม (ซึ่งนิยมไหว้ด้วยของเจเท่านั้น) แต่บางบ้านก็ใช้ไหว้บรรพบุรุษด้วย อีกสิ่งหนึ่งที่มีรูปหน้าตาคล้ายบ๊ะจ่าง แต่ขนาดเล็กกว่าเรียกว่า "กีจ่าง" ทำจากข้าวเหนียวล้วน ๆ ไม่ใส่เนื้อสัตว์ นำมาผ่านกระบวนการต้มจนเม็ดข้าวเหนียวเนียนเป็นเนื้อเดียวกัน มักใช้ไหว้เจ้าแม่กวนกิม หรือไหว้เจ้าที่คู่กับบ๊ะจ่างก็ได้ เวลารับประทานต้องจิ้มน้ำตาล เชื่อว่าจะนำความเป็นมงคลเข้ามาสู่ชีวิต รับประทานหลังกินบ๊ะจ่างเพื่อบรรเทาอาการร้อนในที่เกิดจากการกินบ๊ะจ่างได้
หลายคนอาจยังไม่ทราบว่า นอกจากการกินบ๊ะจ่างแล้ว ชาวจีนแต้จิ๋วยังเชื่อว่าวันที่ 5 เดือน 5 เป็นวันมงคล เป็นวันศักดิ์สิทธิที่ต้องรับประทานผักหรือสมุนไพร 3 ชนิดคือ จิงจูฉ่าย เอี๊ยะบ่อเช่า และใบเก๋ากี้ ซึ่งเป็นสมุนไพรที่ปรกติก็มีสรรพคุณล้างพิษให้อวัยวะภายในร่างกาย ทั้งปอด ตับ ไต มดลูก ไปจนถึงดวงตาให้สะอาดกระจ่างใสอยู่แล้ว แต่หากได้รับประทานในวันมงคลนี้จะยิ่งเพิ่มพลังให้สมุนไพรเหล่านี้เป็นทวีคูณ โดยนิยมใส่ในแกงจืด ต้มเลือดหมู รับประทานร้อน ๆ กับข้าวสวยเป็นอาหารเช้าก็ดี อาหารกลางวันก็ได้ แต่ไม่นิยมรับประทานต้มเลือดหมูเป็นอาหารเย็น
ผักหรือสมุนไพรอีกสิ่งหนึ่งที่มักนำมาเซ่นไหว้กันในวันนี้คือ "ต้นเหี่ย" มักนำมาใช้ปักด้านซ้าย-ขวาของกระถางธูป และที่ปักธูปหน้าบ้าน (ไม่ต้องกินนะคะ) เชื่อว่าเป็นสัญลักษณ์ของการขอพรให้คนในบ้าน โดยเฉพาะผู้สูงอายุ มีสุขภาพแข็งแรง และอายุยืนยาวอีกด้วย
ไม่น่าเชื่อเลยใช่ไหมคะว่าเบื้อหลังบ๊ะจ่างแสนอร่อยที่เรากินกันอยู่ในปัจจุบันนี้จะเป็นฮีโร่ช่วยสร้างความสงบร่มเย็นให้กับเมืองเมืองหนึ่งได้เลยทีเดียว พอทราบประวัติความเป็นมาอย่างนี้แล้วเทศกาลเดือน 5 ปีนี้ หากสาว ๆ คนไหนอยากลุกขึ้นมาช่วยอาม่า อาอี๊ ปักจั่ง (เป็นคำเรียกวิธีการผูกบ๊ะจ่าง) เพื่อเรียนรู้และเป็นตัวแทนสืบทอดวัฒนธรรมอันดีงาม ส่งต่อให้คนรุ่นหลังต่อไปก็เป็นเรื่องที่ดีไม่น้อย แถมเอาไปอวดกับเพื่อน ๆ ได้อีกว่า "ฉันผูกบ๊ะจ่างเป็นนะเออ" ดูเก๋จะตายไป