นักจิตวิทยาได้รายงานผลการศึกษาเรื่อง Temperament นี้มาตั้งแต่ประมาณปี 1970 โดยงานวิจัยค้นพบว่า อารมณ์พื้นฐานของเด็กเล็กที่ทำให้เด็กแต่ละคนมีบุคลิกลักษณะแตกต่างกันนั้น มีอยู่ 3 รูปแบบหลัก ๆ ได้แก่ เด็กเลี้ยงง่าย เด็กเลี้ยงยาก และเด็กปรับตัวช้า ซึ่งเด็กแต่ละกลุ่มก็จะมีลักษณะที่แตกต่างกันไปดังนี้ค่ะ
เด็กกลุ่มนี้แค่ได้ยินชื่อก็คงจะพอนึกภาพออกกันใช่ไหมล่ะคะ เด็กกลุ่มเลี้ยงง่ายนี้ ก็มักจะเลี้ยงง่ายสมชื่อ เนื่องจากมีลักษณะพื้นฐานอารมณ์ที่ค่อนข้างร่าเริงและคงที่ มีความสม่ำเสมอของความต้องการหรือการแสดงออก เช่น มีเวลากิน เวลานอน เวลาที่อยากจะเล่นที่ค่อนข้างเป็นระบบ ขับถ่ายง่ายและเป็นเวลา เป็นเด็กที่ปรับตัวกับสถานการณ์ใหม่ ๆ คนใหม่ ๆ ได้ง่าย และค่อนข้างอารมณ์ดีเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งเด็กกลุ่มนี้จะมีประมาณ 40% ของเด็กทั้งหมด นับว่าเป็นตัวเลขที่สูงทีเดียวค่ะ
สำหรับเด็กในกลุ่มนี้ ก็จะค่อนข้างมีลักษณะที่ตรงกับชื่อกลุ่มเช่นเดียวกัน นั่นก็คือ เด็กที่มีพื้นฐานอารมณ์เป็นเด็กเลี้ยงยากนั้น จะค่อนข้างไม่มีเวลาชีวิตที่แน่นอน มักจะนอนหลับยาวตลอดคืนได้ยากกว่าเด็กทั่วไป มีเวลาหิว เวลาง่วงที่ไม่คงที่ ขับถ่ายยาก อารมณ์หงุดหงิด งอแงง่าย มีการต่อต้านหรือแสดงอารมณ์ที่รุนแรงและชัดเจน
สำหรับเด็กในกลุ่มนี้นั้น พบประมาณ 10% ของเด็กทั้งหมด ซึ่งแม้ว่าชื่อกลุ่มจะดูน่ากังวล แต่หากผู้เลี้ยงเข้าใจ เด็กในกลุ่มนี้ก็จะไม่ใช่เด็กที่เลี้ยงยากอย่างที่เราคิดค่ะ เพียงแต่ต้องอาศัยการตอบสนองที่ถูกต้องเหมาะสม และทันท่วงทีตามความต้องการของเด็กมากกว่าเด็กที่เลี้ยงง่าย ซึ่งหากผู้เลี้ยงสามารถตอบสนองได้อย่างเข้าใจและมีจิตวิทยา ก็จะช่วยให้เด็กกลุ่มนี้ค่อย ๆ ปรับตัวและเลี้ยงง่ายขึ้นในที่สุดค่ะ
เด็กกลุ่มนี้เป็นอีกกลุ่มที่มีลักษณะบุคลิกภาพที่น่าสนใจและแตกต่างไปจากสองกลุ่มแรกค่ะ โดยปกติแล้ว เด็กกลุ่มนี้อาจจะถูกเรียกว่า กลุ่มเด็กขี้อาย เนื่องจากมีลักษณะค่อนข้างเก็บตัว มักจะไม่ค่อยชอบหรือต้องใช้เวลาในการปรับตัวกับสิ่งใหม่ ๆ เช่น ของเล่น อาหาร หรือบุคคลอื่น ๆ ที่ไม่คุ้นเคย
เด็กกลุ่มนี้อาจมีการแสดงอารมณ์ทางลบบ่อย แต่มักจะไม่รุนแรงหรือชัดเจนเท่ากลุ่มเด็กเลี้ยงยาก เรามักจะพบเด็กที่มีลักษณะเช่นนี้ประมาณ 15% ของเด็กทั้งหมด ซึ่งวิธีการเลี้ยงดูที่เหมาะสำหรับเด็กกลุ่มนี้ ก็คือการไม่บังคับหรือยัดเยียดเด็กจนเกินไป แต่ควรให้เวลาและช่วยเหลือในการปรับตัวของเด็ก ซึ่งเด็กจะสามารถปรับตัวเองให้เข้ากับบุคคลหรือสถานการณ์ใหม่ ๆ ได้ง่ายขึ้นในที่สุดค่ะ
แม้ว่าพื้นฐานอารมณ์ จะเป็นสิ่งที่ติดตัวเด็กมาตั้งแต่แรกเกิด แต่วิธีการเลี้ยงดูที่เกิดจากความรักและความเข้าใจ ก็เป็นส่วนสำคัญที่จะทำให้เด็กคนนั้น ๆ เติบโตขึ้นมาเป็นเด็กที่น่ารักและเลี้ยงง่ายได้ ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่ก็อย่าย่อท้อนะคะ หากพบว่าลูกรักของเรานั้น เป็นกลุ่มเด็กเลี้ยงยากหรือเด็กปรับตัวช้า ในขณะนั้น หากคุณพ่อคุณแม่โชคดีที่เจ้าตัวเล็กเป็นเด็กเลี้ยงง่าย ก็ต้องไม่ลืมว่า การเลี้ยงดูของเรา ก็ยังคงมีผลต่อบุคลิกและอารมณ์ของลูกอยู่เช่นเดิมค่ะ
ครูพิม ณัฏฐณี สุขปรีดี
นักจิตวิทยาผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาศักยภาพเด็กเล็กและการเลี้ยงลูกเชิงบวก
Facebook.com/PimAndChildren