ย้อนไปเมื่อประมาณ 3 ปีก่อน ครูพิมมีลูกศิษย์คนหนึ่งเป็นสาวน้อยลูกครึ่ง วัย 4 ขวบ เธอชอบให้ครูพิมอ่านนิทานเรื่องนั้นบ้าง เรื่องนี้บ้างให้เธอฟัง แล้วแต่อารมณ์ในแต่ละวันของเธอ แต่เชื่อไหมคะว่า มีนิทานไทยอยู่เรื่องหนึ่ง ที่เธอให้ครูพิมอ่านให้ฟังซ้ำ ๆ อย่างไม่รู้เบื่อ จนนิทานเรื่องยาวกลายเป็นนิทานที่ครูพิมจำได้แทบจะทุกคำพูด คงจะไม่น่าแปลกใจเท่าไหร่ หากว่านิทานเรื่องนั้นจะเป็นเรื่องทั่ว ๆ ไป แต่ทว่า มันคือนิทานเรื่อง “พระเวสสันดรชาดก” น่ะสิคะ ที่ทำให้ครูพิมยังจำได้มาจนถึงทุกวันนี้
ไม่เพียงแต่การอ่านนิทานเรื่องเดิมซ้ำ ๆ เท่านั้น แต่มีอยู่ระยะหนึ่ง ที่ครูพิมต้องสวมบทบาทเป็นแม่มดในเรื่องสโนไวท์อยู่เกือบเดือน เพราะเด็ก ๆ ยืนยันที่จะเล่นบทบาทสมมติเรื่องนี้ไม่ยอมเปลี่ยน
จริง ๆ แล้ว ความชอบสิ่งเดิม ๆ ซ้ำ ๆ นั้น มีที่มาที่ไปค่ะ และไม่ได้น่าเบื่อสำหรับเด็ก ๆ เหมือนที่ผู้ใหญ่คิด ในทางตรงกันข้าม การทำสิ่งซ้ำ ๆ เดิม ๆ นี่เอง กลับให้ประโยชน์แก่เด็กหลายประการทีเดียว โดยเฉพาะเมื่อสิ่งที่เกิดขึ้นซ้ำ ๆ นั้นเป็นสิ่งที่เด็กชอบและเลือกที่จะทำด้วยตนเอง
การทำสิ่งเดิมซ้ำ ๆ ทำให้เด็กได้เรียนรู้ในสิ่งนั้นอย่างลึกซึ้ง เพราะแต่ละครั้งที่ได้อ่าน ได้ลงมือทำ หรือได้เล่น เด็ก ๆ จะเกิดข้อสังเกตใหม่ ๆ ในจุดที่แตกต่างออกไปจากครั้งก่อนหน้า โดยเฉพาะเมื่อสิ่งที่ทำนั้น มีขั้นตอนที่ละเอียดปลีกย่อยอยู่ เช่น การอ่านนิทานเล่มเดิม เด็ก ๆ อาจได้สังเกตภาพในหนังสือในจุดที่ไม่เคยสังเกตมาก่อน และการดูตัวหนังสือเดิม ๆ ซ้ำ ๆ ก็ทำให้เด็กจดจำคำศัพท์ได้เร็วขึ้น และเข้าใจความหมายของคำได้ลึกซึ้งมากขึ้นกว่าการฟังหรือได้ยินเพียงไม่กี่ครั้ง
การอ่านนิทานเล่มเดิม ๆ เล่นสิ่งเดิมซ้ำ ๆ ใช้ของชิ้นที่คุ้นเคย ทำให้เด็กรู้สึกถึงความปลอดภัยและคาดเดาได้ เป็นการสร้างความรู้สึกว่าโลกนี้มีความมั่นคง ไม่น่ากลัว และเด็กตัวเล็ก ๆ อย่างฉันก็สามารถจัดการกับโลกใหญ่ ๆ ใบนี้ได้ ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ด้วยเหตุนี้ เด็ก ๆ หลายคนจึงรู้สึกดีที่ได้ฟังนิทานเรื่องเดิม ๆ ได้อย่างไม่รู้เบื่อ (แม้คนอ่านจะรู้สึกในทางตรงกันข้ามก็ตาม ฮา)
การทำสิ่งใดซ้ำ ๆ นั้น จะช่วยสร้างเส้นทางในสมองหรือ Pathways ที่ช่วยประสานเซลล์สมองให้จดจำสิ่งเหล่านั้นได้อย่างรวดเร็วมากขึ้น จนบางครั้งเกิดเป็นทักษะหรือสิ่งที่ทำได้จนชำนาญ ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการเรียนรู้ในเรื่องอื่น ๆ สำหรับเด็กในอนาคตอีกด้วย
การทำสิ่งใดหรือชอบสิ่งเดิม ๆ ซ้ำ ๆ เป็นประโยชน์ต่อการสร้างนิสัยที่ดี โดยเราสามารถที่จะจับคู่กิจกรรมที่เด็กชอบทำซ้ำ ๆ กับพฤติกรรมที่เราต้องการให้เกิด เช่น การอ่านนิทานที่เด็กชอบก่อนนอนทุกคืน เพื่อให้เด็กเข้านอนตรงเวลา หรือการใช้แก้วใบเดิมใส่นมหรือน้ำผลไม้ เพื่อสร้างโอกาสให้เด็กได้รับสารอาหารที่มีประโยชน์อย่างเพียงพอ โดยไม่ต้องบังคับขู่เข็ญกันให้มาก สิ่งเหล่านี้ก็นับว่าเป็นประโยชน์อีกทางหนึ่งที่สามารถทำให้เกิดขึ้นได้เช่นเดียวกันค่ะ
ครูพิม ณัฏฐณี สุขปรีดี
นักจิตวิทยาผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาศักยภาพเด็กเล็กและการเลี้ยงลูกเชิงบวก