หลายๆ คน ต้องมากังวลเรื่องของการเข้าถึงเทคโนโลยี และการใช้ชีวิตให้อยู่รอดปลอดภัยในสังคมสมัยใหม่ที่ดูเหมือนว่าจะยากกว่าการใช้ชีวิตในสมัยก่อนๆ แม้ว่าจะเต็มไปด้วยสิ่งอำนวยความสะดวกมากมายก็ตาม นอกจากนี้โครงสร้างของครอบครัวในปัจจุบัน ที่เป็นครอบครัวเดี่ยว อีกทั้งรูปแบบการใช้ชีวิตที่เร่งรีบ รวดเร็ว ก็เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดพฤติกรรมของพ่อแม่ยุคใหม่ที่เรียกว่า “Helicopter Parenting” หรือพ่อแม่เฮลิคอปเตอร์ ซึ่งเป็นคำที่เริ่มใช้เรียกพ่อแม่ที่คอยวนเวียนอยู่กับเรื่องของลูกๆ อยู่ไม่ห่างนั่นเอง
โดยส่วนตัวแล้ว ครูพิมมองว่า การเป็นพ่อแม่เฮลิคอปเตอร์นั้น เริ่มขึ้นด้วยเจตนาที่ดี เพราะพ่อแม่ทุกคนย่อมรักและห่วงใยลูกเป็นธรรมดา แต่ประเด็นของเรื่องนี้ก็คือ บางครั้งผู้ปกครองก็อาจจะไม่ทราบถึงผลระยะยาวที่จะเกิดขึ้นกับลูก และคาดไม่ถึงว่าการแสดงออกซึ่งความรักและปรารถนาดีในรูปแบบที่ตนเองทำอยู่นั้น อาจส่งผลเสียกับลูกได้ในระยะยาว และที่สำคัญคือ ผลกระทบที่เกิดขึ้นกับจิตใจ ซึ่งเป็นเรื่องที่ยากจะแก้ไขในภายหลัง วันนี้ครูพิมจึงอยากจะชวนคุณพ่อคุณแม่ มารู้จักกับสิ่งที่เรียกว่า พ่อแม่เฮลิคอปเตอร์ และผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับเด็กๆ ไปด้วยกันค่ะ
พ่อแม่เฮลิคอปเตอร์ อาจจะเรียกได้ว่ามีความคล้ายคลึงกับลักษณะของ พ่อแม่รังแกฉัน ที่ใช้เรียกกันอย่างคุ้นปาก แต่สาเหตุของพฤติกรรรมใกล้ชิดบุตรหลานและพยายามเป็นที่พึ่งที่เกินความจำเป็นนั้นอาจต่างกัน โดยพ่อแม่เฮลิคอปเตอร์ อาจจะแสดงพฤติกรรมปกป้องที่มากเกินไป (Overprotective) หรือออกคำสั่งและกำกับชีวิตลูกทุกเรื่องเพราะกลัวว่าลูกจะใช้ชีวิตผิดพลาด (Over Directive) และอาจจะเป็นประเภทของพ่อแม่ที่ต้องการให้ลูกอยู่อย่างสุขสบายที่สุดและไม่ต้องพบเจอปัญหาใด ๆ (Concierge) ก็ได้เช่นกัน
แต่ไม่ว่าจะเป็นพ่อแม่เฮลิคอปเตอร์แบบใดก็ตาม สิ่งที่พบว่ามีเหมือน ๆ กันก็คือ การเข้าไปข้องเกี่ยว ดูแล หรือหากพูดให้เห็นภาพชัดหน่อย อาจจะเรียกว่า เข้าไปวุ่นวายกับชีวิตของลูกจนเกินความจำเป็นโดยที่เราอาจรู้หรือไม่รู้ตัวก็ได้ค่ะ (นึกภาพเฮลิคอปเตอร์ที่ต้องคอยลาดตระเวนสอดส่องพื้นที่ที่อยู่ในความดูแลอย่างใกล้ชิด ประมาณนั้นค่ะ) ซึ่งนักจิตวิทยามองว่า พ่อแม่ที่จัดอยู่ในกลุ่มนี้ มักคิดว่าสิ่งที่ทำอยู่นั้นช่วยสร้างความพึงพอใจให้กับตัวเขา เนื่องจากเขารู้สึกว่า ได้ทำหน้าที่ในการเป็นผู้ปกครองอย่างเต็มที่นั่นเองค่ะ
ในระยะสั้นนั้น การเลี้ยงดูลูกอย่างใกล้ชิดนี้ ดูเหมือนว่าจะส่งผลที่ดีเช่นว่า เด็ก ๆ อาจจะว่าง่าย และไม่ค่อยมีปัญหาในชีวิต พ่อแม่ก็รู้สึกว่าสามารถควบคุมลูกให้อยู่ในร่องในรอยได้ แต่เมื่อศึกษาถึงผลในระยะยาวแล้ว คุณพ่อคุณแม่หลาย ๆ ท่านอาจจะต้องหันมาทบทวนตัวเองมากขึ้นว่า เราจะเลี้ยงลูกแบบนี้ต่อไปจริงหรือ เนื่องจากผลการวิจัยหลาย ๆ ชิ้นพบข้อสรุปที่ตรงกันว่า การเลี้ยงลูกในลักษณะนี้ ส่งผลกระทบโดยตรงต่อการใช้ชีวิตของเด็ก โดยเฉพาะเรื่องของการตัดสินใจด้วยตนเอง
โดยการศึกษากลุ่มตัวอย่างที่เป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยพบว่า กลุ่มที่พ่อแม่มีพฤติกรรมการเลี้ยงดูแบบเฮลิคอปเตอร์นั้น มักมีการตัดสินใจด้วยตนเองที่ไม่ดีนัก หรือบางครั้งไม่สามารถตัดสินใจด้วยตนเองได้ และมักมีความวิตกกังวลสูง แม้ว่าพวกเขาจะเป็นเด็กเรียนดีก็ตาม และสิ่งนี้อาจฝังลึกจนกลายเป็นบุคลิกภาพหนึ่งของพวกเขาไปเลยเช่นกัน
ทั้งนี้เนื่องจากการที่พ่อแม่เข้ามาจัดการทุกอย่างในชีวิตให้ตั้งแต่เล็ก ๆ ทำให้พวกเขาไม่มีโอกาสที่จะลองผิดลองถูก และเรียนรู้ที่จะลงมือทำ หรือตัดสินใจเลือกสิ่งต่าง ๆ ด้วยตนเอง ซึ่งนับว่าเป็นความจำเป็นพื้นฐานที่เด็ก ๆ ทุกคนควรจะได้รับโอกาสเพื่อฝึกฝนการใช้ชีวิต เมื่อขาดโอกาสเหล่านี้ไปตั้งแต่เด็ก การที่จะมาฝึกฝนเอาในภายหลังจึงเป็นเรื่องยาก เพราะสังคมก็จะมีความคาดหวังที่แตกต่างออกไป ไม่ได้มองว่าพวกเขาเป็นเด็กเหมือนที่พ่อแม่มอง และเมื่อนั้นนั่นเอง ที่ความกดดันจะส่งผลกระทบต่อจิตใจของเด็กๆ มากขึ้นอย่างทวีคูณ และครูพิมมั่นใจว่า นี่คงไม่ใช่สิ่งที่เราต้องการจะให้เกิดกับลูก ๆ ที่รักของเราอย่างแน่นอน จริงไหมล่ะคะ
ครูพิม ณัฏฐณี สุขปรีดี
นักจิตวิทยาผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาศักยภาพเด็กเล็กและการเลี้ยงลูกเชิงบวก
Facebook.com/PimAndChildren