ธรรมชาติเป็นทั้งแหล่งอาหาร ไม่ว่าจะเป็น พืช สัตว์ หรือเป็นแหล่งวัตถุดิบที่นำมาทำสิ่งต่าง ๆ อย่างเช่น เครื่องนุ่มห่ม ยารักษาโรค หรือเป็นแหล่งพลังงาน และยังเป็นแหล่งผลิตปัจจัยต่าง ๆ ที่ช่วยให้มนุษย์และสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ดำรงชีวิตอยู่ อาทิ อากาศและน้ำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมนุษย์มีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่ทันสมัย ธรรมชาติจึงกลายเป็นแหล่งวัตถุดิบในกระบวนการผลิตระดับอุตสาหกรรม
ทรัพยากรธรรมชาตินั้น หมายถึง สิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ แต่ให้ประโยชน์ต่อมนุษย์เพื่อความอยู่รอด ทรัพยากรธรรมชาตินั้นมีหลายอย่าง ได้แก่ ดิน น้ำ ป่าไม้ สัตว์ป่า แร่ธาตุ รวมถึงอากาศ เราจะเห็นได้ว่าสิ่งที่เรียกว่า “ทรัพยากรธรรมชาติ” นั้น คือสิ่งที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติและมีประโยชน์ต่อมนุษย์ ไม่ว่าจะโดยทางตรงหรือทางอ้อม สิ่งแวดล้อมตามธรรมชาติจึงเป็นแหล่งของปัจจัยต่าง ๆ ที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นแหล่งที่อยู่อาศัย หรือเป็นแหล่งวัตถุดิบที่มนุษย์นำมาใช้ในหลายรูปแบบ ซึ่งทรัพยากรธรรมชาติแบ่งตามการนำมาใช้งานเป็น 3 ประเภท คือ
1. ทรัพยากรธรรมชาติที่ใช้แล้วไม่หมด อันได้แก่ บรรยากาศ น้ำ และแสงอาทิตย์
2. ทรัพยากรธรรมชาติที่ทดแทนได้และรักษาไว้ได้ อันได้แก่ น้ำ ดิน ป่าไม้ ภูเขา และสัตว์ป่า
3. ทรัพยากรธรรมชาติที่ใช้แล้วหมดไป อันได้แก่ แร่ธาตุ พลังงานฟอสซิล และผืนดินในสภาพธรรมชาติ
ทรัพยากรธรรมชาติเป็นสิ่งที่สำคัญต่อสรรพสิ่งมีชีวิตบนโลกซี่งรวมถึงมนุษย์ ทรัพยากรธรรมชาติเป็นต้นทุนของมนุษย์ที่ถูกนำมาใช้เพื่อความอยู่รอดและเพื่อความเจริญทางเศรษฐกิจและสังคม เดิมโลกใบนี้มีความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติเพียงพอกับจำนวนของมนุษย์ที่อาศัยอยู่ ด้วยเหตุผลนี้การรักษาความสมบูรณ์ของธรรมชาติให้คงอยู่นั้นจึงยังไม่อยู่ในความตระหนักรู้ ยิ่งมนุษย์สามารถกอบโกยประโยชน์จากธรรมชาติได้รวดเร็วขึ้นด้วยวิวัฒนาการทางด้านเทคโนโลยีที่ก้าวหน้า ธรรมชาติก็เริ่มฟื้นตัวไม่ทัน ยิ่งมนุษย์แสวงหาความมั่งคั่งจากทรัพยากรธรรมชาติอย่างไร้จิตสำนึก มนุษย์ก็ยิ่งกลายเป็นผู้ทำลายธรรมชาติแทนการเป็นผู้พี่งพา
มนุษย์ตักตวงและนำทรัพยากรธรรมชาติมาใช้อย่างไม่ถูกวิธี จึงทำให้ทรัพยากรธรรมชาติบางชนิดหมดสิ้นไปจากโลกนี้อย่างถาวร ดังนั้นเพื่อความอยู่รอดของมนุษย์ในอนาคต การปลูกฝังให้คนรุ่นใหม่เกิดจิตสำนึกในความสำคัญของธรรมชาติ ในการเรียนรู้ถึงความสำคัญของทรัพยากรธรรมชาติ ในการเรียนรู้ถึงประเภทของทรัพยากรธรรมชาติ และเข้าใจถึงวิธีการบริหารจัดการกับทรัพยากรธรรมชาติที่เหลืออยู่อย่างมีคุณภาพ จึงมีความสำคัญยิ่งในปัจจุบัน
บทบาทหน้าที่ของครู นอกจากจะเป็นผู้ให้และผู้ถ่ายทอดความรู้แล้วนั้น บทบาทสำคัญอีกด้านหนึ่งคือผู้สร้างความเข้าใจ ผู้สร้างแรงบันดาลใจ และยังเป็นผู้ลงมือทำในอุดมการณ์เดียวกัน เป็นบทบาทที่สำคัญมากขึ้นจากเดิมที่จะช่วยขับเคลื่อนการพัฒนาบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติให้แก่นักเรียนภายในโรงเรียนของตน รวมทั้งขยายผลในทางบวกออกไปสู่ชุมชนโดยรอบให้เกิดขึ้นจริง โดยมีผู้บริหารสถานศึกษา มีคณะปฏิรูปการศึกษาในโครงการประชารัฐ รวมถึงเครือข่ายผู้ปกครองและชุมชน เป็นผู้ให้ความร่วมมือ สนับสนุนและสานต่อโครงการต่าง ๆที่ถือกำเนิดขึ้น โดยครูเป็นฟันเฟืองสำคัญต่อการเชื่อมโยงองค์คณะเหล่านี้เพื่อที่จะหล่อหลอมนักเรียน ชุมชน ให้กลายเป็นพลโลกที่ดี
พลโลก คือ พลเมืองของโลกที่อยู่ร่วมกันภายใต้กฎข้อบังคับและบัญญัติของกฏหมายอย่างเป็นระเบียบ เพื่อความสุขสงบและปลอดภัย แน่นอนเราต่างอาศัยอยู่ในประเทศที่มีความแตกต่าง แต่ความแตกต่างทั้งหมดนั้น คือ ความต่างที่เหมือนกัน เพราะแม้แต่ละประเทศจะมีความเชื่อ มีศาสนาและวัฒนธรรม มีคนเชื้อชาติและสังคมที่ต่างกัน แต่ไม่ว่าจะต่างกันอย่างไร เราก็อยู่บนโลกเดียวกัน โลกใบเดียวกันกับที่เราได้ใช้ทรัพยากรธรรมชาติเพื่อความอยู่รอด อยู่กับธรรมชาติที่มีมาตลอดช่วงเวลาที่เราถือกำเนิดและดับไป
หลักการการสร้าง จิตสำนึกในการเป็นพลโลกที่ดี อยู่บนพื้นฐานของการวางแผนจัดการอย่างเป็นระบบเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ด้วยการบำรุงรักษาและกำหนดขอบเขตการใช้ทรัพยากรธรรมชาติให้มีประสิทธิภาพอย่างชัดเจนโดยให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วม
การปลูกจิตสำนึกในการเป็นพลโลกที่ดี ควรมีแนวทางการปฏิบัติ ดังนี้
1. สอดแทรกการปลูกจิตสำนึกการเป็นพลโลกที่ดีกับนักเรียนทุกคน ในทุกโอกาสที่อยู่ภายในโรงเรียน โดยให้ความรู้เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม ให้นักเรียนรู้จักธรรมชาติที่อยู่รอบตัวอย่างชัดเจน จนตระหนักและเห็นคุณค่าของสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ รวมทั้งผลกระทบจากการกระทำของตนที่ส่งผลต่อสิ่งแวดล้อม
2. ร่วมสร้างความรู้สึกรับผิดชอบ ต่อปัญหาที่เกิดขึ้นในโรงเรียน ที่บ้านหรือชุมชน ที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ
3. แนะนำวิธีการรักษาทรัพยากรธรรมชาติที่จำเป็นและหายาก สอนวิธีการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติที่ทดแทนได้ให้กลับมาเพิ่มขึ้นเท่ากับปริมาณที่ต้องการใช้ ด้วยการใช้อย่างฉลาด ใช้อย่างประหยัด และฟื้นฟูธรรมชาติที่เสียหายหรือเสื่อมโทรมให้ดีขึ้น
4. แนะนำแนวทางการปฏิบัติตามหลักการพัฒนาที่ยั่งยืน ด้วยการลดการใช้พลังงาน หรือใช้พลังงานอย่างรู้คุณค่า แสวงหาแหล่งพลังงานใหม่ ๆ ลดการเกิดขยะมูลฝอยที่ไม่จำเป็น หรือจัดการขยะอย่างมีประสิทธิภาพ
5. จัดเวลาให้มีการศึกษาประเภทของธรรมชาติ ทรัพยากรธรรมชาติ ระบบนิเวศวิทยา และความสัมพันธ์ความเชื่องโยงความอยู่รอดระหว่างมนุษย์และสิ่งแวดล้อม
6. แนะนำแนวทางให้นักเรียน วางแผนการดำรงชีวิต อย่างเรียบง่าย ด้วยการไม่ทำลายชีวิตอื่น ๆ ที่อยู่ในธรรมชาติทั้งทางตรงและทางอ้อม
7. แนะนำขั้นตอนปฏิบัติให้นักเรียน ได้ทดลองใช้ประโยชน์จากธรรมชาติอย่างสิ้นเปลืองน้อยที่สุด
8. โน้มน้าวให้นักเรียนกลายเป็นนักอนุรักษ์นิยม เพื่อช่วยเผยแพร่จิตสำนึกไปยังครอบครัวและชุมชนที่ตนอาศัยอยู่ ให้เห็นคุณค่าและตระหนักถึงภัยพิบัติที่กำลังเกิดขึ้นต่อธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พร้อมทั้งแนวทางในการแก้ไข ให้ทรัพยากรธรรมชาติสามารถคงอยู่หรือกลับคืนมาได้ดังเดิม
9. ชักนำและร่วมกับนักเรียนในการทำกิจกรรม ที่เอื้อต่อสิ่งแวดล้อม และการดำรงชีวิตของสิ่งมีชีวิตให้สอดคล้องกับธรรมชาติ
ปัญหาและอุปสรรค
1. ครูขาดความตระหนักเห็นความสำคัญ ของการปลูกฝังจิตสำนึกในการเป็นพลโลกที่ดีให้แก่นักเรียน
2. ครูขาดการสร้างบรรยากาศในชั้นเรียน ให้นักเรียนเห็นคุณค่าของการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมขาติและสิ่งแวดล้อม
3. สถานศึกษาไม่ได้เสริมสร้างบรรยากาศในสถานศึกษา ให้นักเรียนได้เรียนรู้และเห็นความสำคัญของการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
4. ครูไม่สามารถบูรณาการความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้เข้ากับวิชาที่รับผิดชอบสอนอยู่
แนวทางแก้ไข
1. ครูต้องสร้างวินัยในตนเองเพื่อเป็นตัวอย่างในการทำหน้าที่พลเมืองดี แสดงถึงการมีความรับผิดชอบ และมีจิตสาธารณะต่อสังคม โดยเฉพาะการให้ความสำคัญต่อสิ่งแวดล้อมเป็นกรณีพิเศษ และคอยตอกย้ำถึงปัญหาและผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อมและธรรมชาติที่เกิดขึ้นในโรงเรียนให้นักเรียนเห็นเป็นกรณี ๆพร้อมกับสื่อสารให้นักเรียนเห็นถึงวิธีแก้ไข และอาสาทำเป็นตัวอย่างแล้วจึงชักจูงนักเรียนให้ร่วมมือช่วยกัน
2. ครูต้องคอยสื่อสารและทำกิจกรรมที่แสดงถึงการทะนุถนอมทรัพยากรธรรมชาติและแหล่งธรรมชาติที่อยู่ในอาณาเขตของโรงเรียนรวมไปถึงบริเวณชุมชนที่โรงเรียนตั้งอยู่ ครูควรเล่าเรื่องให้นักเรียนได้เห็นภาพในอดีตที่ธรรมชาติแวดล้อมยังเคยมีอยู่ก่อนแปรเปลี่ยนไป หรือควรสร้างจินตนาการให้นักเรียนสัมผัสกับความงามความบริสุทธ์และความสุขของการมีอยู่ของธรรมชาติโดยรอบ ถ้านักเรียนร่วมกันอนุรักษ์ตั้งแต่บัดนี้
3. จัดอาคาร สถานที่ หรือบริเวณในโรงเรียนให้สะอาด ปลอดภัย สวยงาม มีลักษณะปลอดโปร่ง นักเรียนรู้สึกสบายใจยามใกล้ชิดธรรมชาติ รวมถึงตกแต่งห้องเรียน ให้มีบรรยากาศของการเรียนรู้เกี่ยวกับธรรมชาติสร้างอารมณ์ของความรักความหวงแหนให้เด็กนักเรียนผูกพันต่อธรรมชาติมีอยู่ในบริเวณและโดยรอบโรงเรียน แนะนำให้รู้จักประวัติของสิ่งที่เป็นธรรมชาติในโรงเรียนและกระตุ้นให้ต้องระวังรักษาให้คงอยู่ตลอดไป เช่น ต้นไม้ใหญ่ที่อยู่ในโรงเรียน สัตว์น้อยใหญ่ที่อาศัยอยู่ รวมไปถึงขุนเขาป่าไม้หรือสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติใกล้เคียง
4. ครูควรหาแนวทางการสอนที่สอดแทรกจิตสำนึกความเป็นพลโลกที่ดีลงในวิชาทั่ว ๆ ไปทุกครั้งที่มีโอกาสโดยอาศัยความรู้เพิ่มเติมจากแหล่งความรู้ต่าง ๆ ในอินเตอร์เน็ต หรือคำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญ โดยเฉพาะจากระบบไอซีที ของโครงการปฏิรูปการศึกษาประชารัฐ
คำถามเพื่อการนำไปสู่ Action Learning
1. การปลูกฝังจิตสำนึกในการเป็นพลโลกที่ดีให้กับนักเรียนในสถานศึกษาของท่าน จะมีผลต่อธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในชุมชน หรือสังคมอย่างไรบ้าง
2. ท่านคิดว่าปัญหาและอุปสรรคสำคัญที่ทำให้นักเรียนขาดความตระหนักถึงความสำคัญของการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในชุมชน ได้แก่อะไรบ้าง และในฐานะครูผู้สอนท่านคิดว่าจะแก้ปัญหา อุปสรรคนั้นอย่างไร
3. ท่านคิดว่าจะนำแนวคิดการปลูกฝังจิตสำนึกในการเป็นพลโลกที่ดีมาบูรณาการกับวิชาที่ท่านรับผิดชอบสอนอยู่ในปัจจุบันได้ด้วยวิธีการใดบ้าง
4. ท่านคิดว่าเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารจากกลุ่มประชารัฐ จะช่วยทำให้กระบวนการปลูกฝังจิตสำนึกการเป็นพลโลกที่ดี และกระบวนการเรียนรู้แนวทางต่าง ๆ ในการบริหารจัดการธรรมชาติ ในสถานศึกษาของท่านมีประสิทธิผลและช่วยให้ท่านบรรลุเป้าหมายได้อย่างไร หรือไม่ได้อย่างไร
5. ท่านคิดว่าการได้รับความร่วมมือจากนักวิชาการ สกูลพาร์ทเนอร์ และองค์กรเอกชน รวมถึงสถาบันการศึกษาอื่น ๆ จะช่วยให้ท่านสามารถปลูกฝังจิตสำนึกในการเป็นพลโลกที่ดีให้กับนักเรียน ได้มากน้อยเพียงใด ท่านยังเห็นข้อจำกัดอะไรบ้างในโครงสร้างของการประสานความร่วมมือจากหน่วยงานรัฐและเอกชน ซึ่งถ้ายังมีข้อจำกัด ท่านต้องการจะบริหารจัดการอย่างไรจึงจะมีประสิทธิภาพ
KPIs
1. คุณครูของสถานศึกษาไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 เลือกเปิดเวปไซท์เกี่ยวกับประเภทการอนุรักษ์ธรรมชาติ และวิธีการต่างๆที่แนะนำไว้ให้ในเนื้อหา ภายใน 60 วันนับจากวันที่ได้เข้าชมเนื้อหา “ปลูกจิตสำนึกในการเป็นพลโลกที่ดี”
2. คุณครูของสถานศึกษาไม่น้อยกว่า ร้อยละ 80 ดำเนินโครงการหรือจัดกิจกรรมเชิงบูรณาการในรายวิชาหรือกิจกรรมพัฒนาผู้เรียนเพื่อปลูกฝังและสร้างจิตสำนึกในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม อย่างน้อยกลุ่มสาระการเรียนรู้ละ 1 โครงการหรือกิจกรรม ภายในปีการศึกษา 2559
จัดทำโดย
อนุชิต จุรีเกษ
ดร.ม.ล. สรสิริ วรวรรณ