สัตวแพทย์เป็นแพทย์ที่คอยดูแลสุขภาพสัตว์ วินิจฉัย รักษา ป้องกันโรค และคิดค้นยาและพัฒนาวิธีการรักษาโรคสัตว์หลายชนิด ทั้งสัตว์เลี้ยง ปศุสัตว์และสัตว์ประเภทอื่นๆ โดยใช้การสอบถามประวัติสัตว์ป่วยจากเจ้าของ อาการที่สัตว์แสดงออกมา ประกอบกับผลทางห้องปฏิบัติการ รวมถึงการใช้เครื่องมือและอุปกรณ์ทางสัตวแพทย์เพื่อทำการวิเคราะห์ปัญหาด้านสุขภาพให้แก่สัตว์ เพื่อให้พวกเขามีชีวิตรอดและมีสุขภาพที่แข็งแรง
ลักษณะงาน
สัตวแพทย์มีหน้าที่หลักในการรักษาสัตว์ที่เจ็บป่วย ได้รับอุบัติเหตุ และกรณีอื่น ๆ โดยสัตวแพทย์สามารถทำงานหลายประเภท
- สัตวแพทย์เวชศาสตร์ มีหน้าที่รักษาสัตว์เลี้ยงในคลินิกส่วนตัวและโรงพยาบาลสัตว์ โดยทั่วไปมีหน้าที่รักษาสุนัข แมว รวมถึงสัตว์เลี้ยงพิเศษ เช่น นก กระต่าย เต่า เฟอร์เร็ต เป็นต้น สัตวแพทย์ต้องทำการวินิจฉัยและรักษาปัญหาทางสุขภาพ; ปรึกษากับเจ้าของสัตว์เลี้ยง เพื่อทำการรักษาและป้องกันปัญหาสุขภาพ รวมถึงการควบคุมจ่ายยาและทำการผ่าตัด และหน้าที่อื่นๆ เช่น การฉีดวัคซีน การทำฟัน หรือดามกระดูก นอกจากนี้ยังมีสัตวแพทย์ที่ดูแลรักษาสัตว์น้ำ สัตว์ป่า สัตว์ในสวนสัตว์ ซึ่งแต่ละประเภทที่กล่าวมานี้จะทำงานแตกต่างกันตามชนิดของสัตว์ที่ต้องดูแล และสถานที่ทำงาน
- สัตวแพทย์ประจำฟาร์ม มีหน้าที่ในฟาร์มสัตว์ต่างๆ เช่น หมู สัตว์ปีก แพะ วัว ควาย หน้าที่คือ ทำงานร่วมกับสัตวบาล**ควบคุมการจัดการดูแลของสัตว์ ถ้าหากเราจัดการการเลี้ยงดูสัตว์ไม่ดี ผลิตภัณฑ์ที่ได้จากสัตว์เหล่านั้นก็จะมีคุณภาพไม่ดีได้ รวมทั้งต้องดูแลด้านอาหารให้แก่สัตว์ให้ได้รับสารอาหารที่เพียงพอต่อการเจริญเติบโต นอกจากนี้พวกเขามีหน้าที่ในการรักษาโรค และอุบัติเหตุที่เกิดในสัตว์ รวมไปถึงการทดสอบวัคซีนป้องกันโรค และให้คำแนะนำกับเจ้าของฟาร์มหรือผู้จัดการฟาร์มเกี่ยวกับการเลี้ยงสัตว์ เช่น อาหาร ที่อยู่อาศัย และการรักษาป้องกันโรค บางหน่วยงานอาจต้องร่วมทำการวิจัย ปรับปรุงพันธุ์สัตว์ ผสมพันธุ์สัตว์ การดูแลสัตว์ การควบคุมโรคไม่ให้มีการระบาดในสัตว์ด้วย
**สัตวบาล เป็นอีกวิชาชีพหนึ่งที่จบการศึกษาจากภาควิชาสัตวบาล คณะเกษตรศาสตร์ เป็นผู้ดูแลงานด้านการเลี้ยงดูสัตว์แตกต่างจากจากสัตวแพทย์ที่จะรับผิดชอบด้านการรักษา
- สัตวแพทย์ผู้ตรวจสอบความปลอดภัยผลิตภัณฑ์อาหาร มีหน้าที่ตรวจสอบและทดสอบผลิตภัณฑ์จากสัตว์เพื่อให้ผู้บริโภคได้บริโภคผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพปราศจากโรคติดต่อและสารตกค้าง ทำการศึกษาเพื่อพัฒนาสุขภาพ ควบคุม ป้องกันและบำบัดโรคตามที่กรมปศุสัตว์กำหนด รวมทั้งทำหน้าที่ออกแบบและจัดทำโครงการเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดโรคระหว่างสัตว์สู่สัตว์และสัตว์สู่คน
- สัตวแพทย์สนาม สัตวแพทย์ที่ออกนอกพื้นที่ไปตามโครงการต่าง ๆ เพื่อตรวจสอบโรคของสัตว์ และรักษาสัตว์แต่ละชนิดตามที่ได้รับมอบ เช่น โครงการติดตามนกล่าเหยื่อ สัตวแพทย์ก็ต้องคอยรักษาและตรวจสอบนกแต่ละตัวว่ามีโรคหรือมีสุขภาพแข็งแรงหรือไม่
- สัตวแพทย์ผู้ทำหน้าที่เป็นผู้แทนขายและนักวิชาการของบริษัทเอกชน ซึ่งทำหน้าที่ใช้ความรู้ที่เรียนมาในการแนะนำผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับสัตว์ อาทิเช่น ยาสัตว์ วัคซีนสัตว์ อาหารสัตว์ รวมถึงอุปกรณ์และเครื่องมือต่าง ๆ ที่ใช้ทั้งในการเลี้ยงดูสัตว์ และในการรักษาสัตว์ โดยจะแบ่งออกเป็นผิลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวกับสัตว์เล็กและสัตว์ใหญ่ สัตแพทย์ในสายงานนี้สามารถเติบโตเป็นเจ้าของกิจการผู้พัฒนา ผลิต นำเข้าและส่งออกผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับสัตว์ได้
- สัตวแพทย์ที่ทำงานด้านงานวิจัยและงานทางวิชาการ เช่น นักวิจัย คณาจารย์ในมหาวิทยาลัย เป็นต้น โดยสัตวแพทย์สามรถศึกษาต่อในระดับปริญญาโท และปริญญาเอก ทำงานวิจัยที่เกี่ยวกับเชื้อโรคชนิดต่าง ๆ ทั้งโรคในสัตว์และโรคติดต่อระหว่างสัตว์กับคน โรคอุบัติใหม่และโรคอุบัติซ้ำ การพัฒนายา วัคซีน เพื่อการรักษา ควบคุมและป้องกันโรค รวมถึงการวิจัยพัฒนาวิธีการและเทคนิคที่ทันสมัยในการรักษาสัตว์ เพื่อให้มีประสิทธิภาพที่ดียิ่งขึ้น นอกจากนี้ยังรวมถึงสัตวแพทย์ที่ทำงานวิจัยด้านน้ำเชื้อ การผสมเทียมในสัตว์ที่ใกล้สูญพันธุ์ ช่วยพัฒนางานทางด้านอนุรักษ์สัตว์ป่าของประเทศไทย
ขั้นตอนการทำงาน
- เบื้องต้นทำการซักประวัติสัตว์ป่วย โดยการสอบถามอาการจากเจ้าของ ตรวจเช็คอาการที่สัตว์แสดงออกมา ในบางครั้งต้องใช้ผลการตรวจจากห้องปฏิบัติการ เช่น ผลการตรวจเลือด ปัสสาวะ อุจจาระ มาช่วยในการวิเคราะห์และวินิจฉัยโรค รักษาและทำแผล •ทำการผ่าตัด จ่ายยา รวมทั้งฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันโรค
- ควบคุมการใช้อุปกรณ์การแพทย์ เช่น เครื่อง X-ray
- แนะนำกับเจ้าของสัตว์เลี้ยงเกี่ยวกับการดูแล อาการป่วยและวิธีรักษาอาการ
- หากเป็นงานด้านปศุสัตว์จะต้องดูแลเรื่องปัญหาที่ส่งผลต่อการขยายพันธุ์ในฟาร์ม ค้นคว้าและแก้ไขปัญหาโรคติดต่อ ปัญหาด้านการจัดการและโภชนาการด้วย
สถานที่ทำงาน
สัตวแพทย์ทำงานได้ทั้งในคลินิกและโรงพยาบาลสัตว์ นอกจากนี้มีการทำงานในฟาร์มสัตว์ ห้องแลป บางครั้งอาจต้องทำงานนอกสถานที่ ทำการผ่าตัดนอกสถานที่ในกรณีที่ไม่สามารถเคลื่อนย้ายสัตว์ป่วยชนิดนั้น ๆ ได้ สถานที่ต้องไปอาจขึ้นอยู่กับสัตว์แต่ละชนิดด้วย เช่น สัตว์ป่า สัตว์ในสวนสัตว์ สัตว์ในฟาร์ม สัตว์น้ำทั้งในธรรมชาติหรือ Aquarium เป็นต้น
หากสัตวแพทย์บางท่านมีหน้าที่ความปลอดภัยผลิตภัณฑ์อาหาร อาจต้องเดินทางไปยังฟาร์มสัตว์ โรงฆ่าสัตว์และโรงงานผลิตอาหารเพื่อตรวจสอบคุณภาพและรับรองกระบวนการผลิตให้มีความปลอดภัยตามมาตรฐานข้อกำหนด
ผู้ที่ต้องทำงานด้วย
- พยาบาลสัตว์หรือผู้ช่วยสัตวแพทย์ คือผู้ร่วมงานสำคัญที่สัตวแพทย์จะต้องพึ่งพาในการทำงาน เพราะทำงานร่วมกันในเรื่องต่าง ๆ เช่น ช่วยเหลือในเรื่องการจับบังคับสัตว์ การเตรียมอุปกรณ์ การทำแผล การฉีดยา การเก็บตัวอย่างส่งตรวจห้องปฏิบัติการ รวมถึงการเตรียมอุปกรณ์ เครื่องมือ ต่างๆ ในขณะทำการรักษาและการผ่าตัด
- นักเทคนิคการสัตวแพทย์ เทียบได้กับนักเทคนิคการแพทย์ของคน ทำงานในโรงพยาบาลสัตว์หรือห้องวิจัย ทำหน้าที่ตรวจวินิจฉัยทางห้องปฏิบัติการ เช่น ตรวจเลือด ปัสสาวะ อุจจาระ การเพาะเชื้อ รวมถึงการตรวจด้านชีวโมเลกุล และซีรั่มวิทยา โดยผลที่ได้จากการตรวจจะเป็นข้อมูลที่ช่วยให้สัตวแพทย์สามารถวินิจฉัยโรคได้ถูกต้องและแม่นยำมากยิ่งขึ้น โดยจะต้องคอยให้คำปรึกษาและแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นกับสัตวแพทย์ในการวินิจฉัยโรคเพื่อวางแผนการรักษาที่ถูกต้องต่อไป
- เจ้าของสัตว์เลี้ยง เจ้าของฟาร์ม หรือผู้รับบริการที่เป็นเจ้าของสัตว์ ซึ่งสัตวแพทย์จะต้องรับมือจากความคาดหวังของพวกเขาที่ต้องการให้สัตว์เลี้ยงของตนได้รับการดูแลอย่างดี ดังนั้นการสื่อสารที่ถูกต้องเหมาะสม ประนีประนอมและเห็นอกเห็นใจจะช่วยให้แพทย์ทำงานง่าย และสัตว์ก็ได้รับการดูแลจากเจ้าของอย่างถูกต้องด้วย
ตำแหน่งและเส้นทางการเติบโต
หากต้องการเติบโตในเส้นทางสายราชการ จะตำแหน่งการเติบโตที่กำหนดไว้แล้ว เช่น สัตวแพทย์ปฏิบัติการ สัตวแพทย์ชำนาญการ สัตวแพทย์ชำนาญการพิเศษ โดยตัวอย่างเส้นทางอาชีพของบางหน่วยงานรัฐ อาจมีได้ดังนี้ หากต้องการเติบโตไปเป็นปศุสัตว์ประจำจังหวัด
ต้องเริ่มต้นจากระดับปฏิบัติการระดับปฏิบัติการ แล้วเติบโตเป็นหัวหน้าสถานี/ปศุสตว์อำเภอ โดยต้องทำงานไม่ต่ำกว่า 6 ปี จะสามารถเติบโตขึ้นไปในตำแหน่งหัวหน้ากลุ่มยุทธศาสตร์และสารสนเทศการปศุสัตว์/ หัวหนัาด่านกักสัตว์ แล้วจึงจะสามารถเข้ารับการคัดเลือกเพื่อเป็นปศุสัตว์จังหวัด
ในอีกสายทางหนึ่ง หลังจากทำงานเป็นนายสัตวแพทย์หรือนักวิชาการสัตวบาลหรือเป็นปศุสัตว์อำเภอแล้วโดยทำงานเป็นผู้ปฏิบัติงานไม่น้อยกว่า 3 ปี จะสามารถได้ขึ้นเป็นหัวหน้ากลุ่ม ผอ.ส่วน หรือผอ.ศูนย์ แล้วจึงจะสามารถเข้ารับการคัดเลือกเพื่อเป็นปศุสัตว์จังหวัดได้
ในสายงานองค์กรเอกชน การเติบโตจะเน้นการสั่งสมประสบการณ์ เลือกแผนกตามความชอบหรือถนัด เพื่อเลื่อนขั้นตำแหน่งไปจนถึงระดับผู้บริหาร
และหากเพิ่มพูนประสบการณ์ด้วยการเรียนในระดับปริญญาโทหรือเอกยังสามารถมีโอกาสในการทำงานสายวิชาการเป็นอาจารย์สอนในสถาบันหรือมหาวิทยาลัยทั่วไปที่มีหลักสูตรสัตวแพทย์อีกด้วย นอกจากนี้ยังสามารเป็นสัตวแพทย์อิสระโดยการเปิดคลีนิกรักษาสัตว์ได้เช่นกัน
รายได้
- ในหน่วยงานราชการเริ่มต้นประมาณ 4,000-20,000 บาท ขึ้นอยู่กับวุฒิทางการศึกษา
- องค์กรเอกชนเริ่มต้นที่ประมาณ 15,000 บาท
การแข่งขันและความต้องการทางการตลาด
สัตวแพทย์ยังคงเป็นอาชีพที่ขาดแคลน และเมื่อเทียบกับทุกวันนี้มีคนเลี้ยงสัตว์กันมากขึ้น ทำให้ความต้องการในตลาดของอาชีพนี้ยังมีอยู่มาก นอกจากนี้งานสัตวแพทย์ไม่ได้ทำหน้าที่แค่รักษาสัตว์เลี้ยงเพียงอย่างเดียว แต่ยังรวมถึง หน้าที่ของสัตวแพทย์ซึ่งช่วยดูแลโภชนาการ ดูแลโปรตีนให้คนคือ พวกเนื้อไก่ เนื้อหมู เนื้อสัตว์ต่างๆ ที่มนุษย์รับประทานเป็นอาหาร สัตวแพทย์จะมีหน้าที่ดูแลสัตว์เหล่านี้เพื่อให้ได้เนื้อสัตว์ที่มีคุณภาพ นอกจากนี้ยังมีเกียรติและเป็นการช่วยเหลือรวมทั้งอนุรักษ์สัตว์ต่าง ๆ อย่าง แพทย์สัตว์ป่าด้วย จึงเห็นได้ว่านอกจากจะเป็นอาชีพที่ขาดแคลนแล้ว ยังมีทางเลือกอาชีพในสายงานนี้อีกมากมายด้วย
- ถือเป็นอาชีพที่ได้รับความสุขและความภูมิใจจาการดูแลช่วยเหลือสัตว์ที่กำลังเป็นทุกข์จากการเจ็บป่วยหรืออุบัติเหตุ ซึ่งไม่ใช่เพียงแค่สัตว์เลี้ยงเท่านั้นแต่ยังรวมถึงสัตว์น้ำและสัตว์ป่า
- เป็นอาชีพที่ได้ช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ทางอ้อม เพราะถือเป็นการป้องกันโรคติดต่อจากสัตว์ไปสู่ คน สำหรับคนแต่ละคน สัตว์อาจเป็นเพื่อน เป็นเครื่องมือทำมาหาเลี้ยงชีพ ดังนั้นการช่วยชีวิตสัตว์ที่มีความสำคัญกับคน
- ในการทำงานเป็นสัตวแพทย์ย่อมมีความเครียดเกิดขึ้น เพราะพวกเขาต้องทำงานกับสัตว์ที่มีอาการเจ็บป่วยและต้องให้คำปรึกษาแก่เจ้าของสัตว์ถึงอาการป่วยนั้น ๆ
- สัตวแพทย์อาจมีโอกาสได้รับเชื้อโรคจากสัตว์ ถูกสัตว์กัดหรือทำร้ายขณะทำการรักษาได้ จึงต้องระมัดระวังตัวอยู่เสมอ
- งานรักษาชีวิตให้สิ่งมีชีวิตไม่ว่าจะคนหรือสัตว์ เลือกเวลาไม่ได้ บ่อยครั้งที่ต้องทำงานในช่วงเวลาเร่งด่วนและฉุกเฉินไม่ว่าจะดึกดื่นเพียงใดก็ตาม
- ต้องเข้าใจในการเกิดแก่เจ็บตายของชีวิต เพราะในบางครั้งสัตวแพทย์ต้องมีการตัดสินใจร่วมกับเจ้าของสัตว์เลี้ยงหากการรักษามาถึงทางตัน แล้วต้องตัดสินใจการุณยฆาตสัตว์นั้น
- รักสัตว์ ความรักและความเห็นอกเห็นใจสัตว์และผู้เป็นเจ้าของสัตว์ เป็นสิ่งจำเป็นที่สุด พวกเขาต้องปฏิบัติต่อสัตว์ด้วยความเมตตา เพราะสัตวแพทย์ต้องพบเจอกับความสกปรก มูลสัตว์ รวมทั้งความเศร้าโศกเสียใจของเจ้าของสัตว์ชนิดนั้นๆ ด้วย
- ช่างสังเกต เนื่องจากสัตว์ไม่สามารถบอกอาการเจ็บปวดของตนได้ การสังเกตอาการอย่างใกล้ชิดจะทำให้มีประสิทธิภาพในการวินิจฉัยโรคมากขึ้น
- ละเอียดรอบคอบ เป็นคุณสมบัติที่สำคัญเพราะการทำงานของสัตวแพทย์ หากสะเพร่าอาจส่งผลอันตรายถึงชีวิตของสัตว์ตัวนั้น ๆ ได้
- มีความรู้ในการใช้เครื่องมือทางด้านสัตวแพทย์ เครื่องมือเหล่านี้ถือเป็นเครื่องมือเฉพาะในการรักษาสัตว์ ซึ่งสัตว์แต่ละชนิดจะมีวิธีการใช้อุปกรณ์และเทคนิคที่แตกต่างกัน ความเชี่ยวชาญเหล่านี้จึงเป็นสิ่งสำคัญที่สัตวแพทย์พึงมี
- ทักษะการสื่อสาร การสื่อสารเป็นทักษะที่จำเป็นสำหรับสัตวแพทย์ ซึ่งต้องใช้ในการอธิบายและแนะนำการรักษาให้แก่เจ้าของสัตว์
- ทักษะความชำนาญ การทำงานด้วยความชำนาญและคล่องแคล่วเป็นทักษะที่สัตวแพทย์ต้องพัฒนา เช่น การควบคุมการทำงานของมือให้ถูกต้องแม่นยำในการผ่าตัดและการรักษาอื่นๆ
- ทักษะการตัดสินใจ การตัดสินใจที่เด็ดขาดเป็นสิ่งที่จำเป็นเพราะพวกเขาต้องตัดสินชีวิตของสิ่งมีชีวิต พวกเขาต้องศึกษาและทดสอบเพื่อให้มั่นใจผลลัพธ์ในการรักษาที่ดี
- ทักษะการแก้ไขปัญหา สัตวแพทย์ต้องวินิจฉัยโรคของสัตว์ให้แม่นยำ แม้บางครั้งอาจะต้องมีการทดลองรักษาด้วยวิธีที่หลากหลาย เพื่อรอดูผลการตอบสนองของการรักษา ในหลาย ๆ ครั้ง การแก้ปัญหาจึงเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่งในการทำการรักษาสัตว์ป่วยเหล่านั้นให้ดีที่สุด
การศึกษา
ในหลักสูตรสัตวแพทยศาสตรบัณฑิต จะรับนักเรียนจากทุกแผนการเรียนของสายสามัญ รวมทั้งสายอาชีพและกศน. หลักสูตรนี้ใช้เวลาเรียนตลอดหลักสูตรเป็นเวลา 6 ปี โดยจะศึกษาวิชาพื้นฐานในการรักษาสัตว์ เช่น กายวิภาคศาสตร์ จุลชีววิทยา สรีรวิทยา เภสัชวิทยา พยาธิวิทยา เป็นต้น
สถาบันที่เปิดรับ ได้แก่
- จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
- มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
- มหาวิทยาลัยขอนแก่น
- มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
- มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร
- มหาวิทยาลัยมหิดล
- มหาวิทยาลับมหาสารคาม
- มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก
- มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย
- ม.สงขลานครินทร์
Hard Skill
- -เน้นความรู้ความเข้าใจในวิชาชีววิทยา เคมี และภาษาอังกฤษเป็นหลัก จะช่วยทำให้ศึกษาคณะสัตวแพทย์ศาสตร์ได้ง่ายขึ้น
- คลุกคลีและหมั่นหาความรู้เรื่องสรีระและเรื่องราวของสัตว์หลากหลายชนิด เพราะสัตวแพทย์ไม่ได้รักษาแค่เพียง สุนัข แมว หรือกระต่าย แต่ทุกวันนี้มีสัตว์มากมายหลายชนิดที่คนมักนำมาให้รักษา ผู้ที่สนใจเป็นสัตวแพทย์ หรือแม้แต่สัตวแพทย์เองควรรู้จักประยุกต์ใช้การรักษาให้เหมาะสมกับสัตว์ชนิดใหม่ที่ตนไม่คุ้นเคย
- พัฒนาทักษะในการใช้อุปกรณ์ทางการสัตวแพทย์ ซึ่งยิ่งนับวันยิ่งมีนวัตกรรมใหม่ๆ ให้เรียนรู้มากยิ่งขึ้น
- ค้นหาและคอยอัพเดทข่าวสารเรื่องโปรแกรมใหม่ๆ ทั้งจากไทยและต่างประเทศ
Soft Skill
- ฝึกทักษะในการปฏิสัมพันธ์และพยายามทำความเข้าใจถึงอารมณ์และความรุนแรงของสัตว์ชนิดต่างๆ ผ่านการแสดงออกที่แตกต่างไปตามชนิดกัน เพื่อระมัดระวังในระหว่างการรักษา
กิจกรรมต่างๆ
- หาเวลาเข้ารับการฝึกงานกับหน่วยงานที่ทำงานเกี่ยวกับเช่น โรงพยาบาลสัตว์ สวนสัตว์ต่างๆ ซึ่งเปิดรับให้น้อง ๆ ระดับมัธยมเข้าร่วมฝึกงานได้
- อ่านบทความหรือติดตามเรื่องราวข่าวสารด้านสัตวแพทย์ได้ ตามช่องทางต่าง ๆ ทั้ง online, podcast , youtube
- ในประเทศไทย มีสัตวแพทยสภา ที่สามารถติดตามข้อมูลข่าวสารของวงการสัตวแพทย์ของประเทศไทยได้
- ลองเข้ามาฝึกงานกับโครงการ ทำ ก่อน ฝัน ของทรูปลูกปัญญา ซึ่งมีอาชีพสัตวแพทย์ให้น้อง ๆ ได้ร่วมใกล้ชิดกับการทำงานจริงของพี่ ๆ ด้วย
วิชาที่เรียน
ตัวอย่างวิชาเรียนที่สำคัญ อาทิ
- กายวิภาคศาสตร์พัฒนาการทางการสัตวแพทย์
- หลักการสัตวบาล
-
เคมีคลินิกทางการสัตวแพทย์
-
เภสัชวิทยาตามระบบทางการสัตวแพทย์
-
พิษวิทยาทางการสัตวแพทย์
-
พยาธิวิทยาตามระบบทางการสัตวแพทย์
-
โลหิตวิทยาและเซลล์วิทยาทางการสัตวแพทย์
-
กีฏวทิยาและอะคาโรควิทยาทางการสัตวแพทย์
-
หนอนพยาธิวิทยาทางการสัตวแพทย์
-
วิทยาสัตว์เซลล์เดียวทางการสัตวแพทย
-
โรคของสุนัขและแมว
-
การจัดการสุขภาพฝูงสัตว์เคี้ยวเอื้อง
-
การจัดการสุขภาพฝูงสุกร
-
วิทยาการสืบพันธุ์สุกร
-
การจัดการสุขภาพสัตว์ปีก
-
อายุรศาสตร์สัตวน้ำ
เป็นต้น
เคล็ดลับการเรียน
- แบ่งเวลาการทบทวนการเรียนให้ดี แม้ช่วงแรกจะเรียนแค่วิชาพื้นฐาน แต่เมื่อขึ้นชั้นปีถัดไป จะหนักขึ้นเร่ื่อย ๆ
- ฝึกประสบการณ์ และจดจำเคสในเวลาเรียนให้ได้เยอะ ๆ เพราะในชีวิตจริงจะมีสัตว์หลากหลายชนิดและเคสมากมายท้าทายให้สัตวแพทย์ต้องทำการรักษา
ชีวิตในรั้วมหาวิทยาลัย
จะเรียนหลักสูตร 6 ปี แบ่งย่อย ๆ เป็น 3 ส่วน โดยจะเริ่มเรียนวิชาความรู้พื้นฐานทั่วไปใน อย่างชีววิทยา เคมี ฟิสิกส์ ภาษาอังกฤษ แล้วเรียน Pre-Clinic ความรู้พื้นฐานทางสัตวแพทย์ จากนั้นจึงเริ่มรวบรวมความรู้มาใช้ปฏิบัติจริงในการเรียนขั้น Clinic แล้วจึงสอบประมวลความรู้เพื่อรับใบประกอบวิชาชีพสัตวแพทย์ในชั้นปีถัดมา จนในปีสุดท้ายจะทำการศึกษากับสัตว์ป่วย ที่มารักษาในโรงพยาบาลสัตว์จริง ๆ ทั้งสัตว์เล็กและปศุสัตว์ โดยอยู่ภายใต้การควบคุมของอาจารย์สัตวแพทย์
อาชีพใกล้เคียงหรือเรียกได้ว่ามีลักษณะงานที่คล้ายคลึงกัน อาทิ
- นักเทคนิคการสัตวแพทย์ (PR Agency)
- รับราชการในกรมปศุสัตว์
- อาจารย์มหาวิทยาลัย
- ผู้แทนขายผลิตภัณฑ์ยาหรืออาหารสัตว์
Copyright © 2019 TruePlookpanya. All rights reserved.
สงวนลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ห้ามมิให้ผู้ใดคัดลอก ทำซ้ำ ดัดแปลง แก้ไข หรือเผยแพร่ส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ก่อนได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร