วันนี้ “พี่พิงค์” จะมาแนะนำ CU Coronet ให้น้อง ๆ ได้รู้จักกันค่ะ ก่อนอื่นต้องบอกก่อนเลยว่า Cu Coronet คือกลุ่มตัวแทนนิสิตและผู้อัญเชิญพระเกี้ยวแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ประจำงานฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ - ธรรมศาสตร์ ซึ่งครั้งนี้เป็นครั้งที่ 72 ภายในงานฟุตบอลประเพณี Cu Coronet หรือกลุ่มตัวแทนนิสิตฯ จะเป็นนิสิตที่ได้รับการคัดเลือกมาเพื่อทำสามหน้าที่ในงาน คืออัญเชิญพระเกี้ยว อัญเชิญป้ายนามมหาวิทยาลัยและอัญเชิญพานพุ่มค่ะ
ผู้อัญเชิญพระเกี้ยวในปีนี้ก็คือ นางสาว ชรีนาฏ สิทธิการุณ (ปราง) คณะนิติศาสตร์ ชั้นปีที่ 3 และ นายทัพพ์เทพ จิระประเสริฐกร (ดับเบิ้ล) คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี ชั้นปีที่ 2 ค่ะ เดี๋ยวเรามาดูกันเลยดีกว่าค่ะว่ากว่าที่พี่ปรางและพี่ดับเบิ้ลจะมาเป็นผู้อัญเชิญพระเกี้ยว มีแรงบันดาลใจอะไร และมีการคัดเลือกกันมายังไง และต้องทำหน้าที่อะไรบ้าง
พี่ปราง: เราไม่ได้แค่อัญเชิญพระเกี้ยวอย่างเดียวเท่านั้นแต่เรายังทำกิจกรรมภายในมหาวิทยาลัยอีกมาก ส่วนมากจะเกี่ยวกับการบำเพ็ญประโยชน์ และก็งานพิธีการค่ะ ยกตัวอย่างเช่น งานวันปิยมหาราช และ งานถวายตัวเป็นนิสิตเราก็ได้เป็นต้นแบบในการถวายบังคมค่ะ
พี่ดับเบิ้ล: เราทำกิจกรรมอย่างอื่นอีกเยอะมาก อย่างเช่น เข้าร่วมงานกับทางอบจ. มีการสร้างโรงเรียนให้กับน้อง ๆ ที่ต่างจังหวัดด้วย
พี่ปราง: คือตอนที่เราปีสองเรารู้สึกว่า เรามีเวลาในมหาวิทยาแค่เพียงสี่ปี เราเลยอยากหากิจกรรมอะไรทำ ทำกิจกรรมมาหลายอย่างมากแต่เราก็อยากหาอะไรทำที่เป็นงานที่จริงจังมากขึ้น นอกจากนั้นคือเราเห็นพี่ ๆ เพื่อน ๆ มีชมรม มีสังกัต เราก็อยากทำบ้าง ช่วงนั้นเป็นช่วงที่มี Cu Coronet พอดีเราเลยคิดว่ามันก็เป็นงานที่ใหญ่และตอบโจทย์เรา เราก็เลยลองมาสมัครดู
พี่ดับเบิ้ล: เราคิดว่าในปีนี้เป็นปีที่จุฬาจะได้เป็นเจ้าภาพ คิดว่าปีนี้น่าจะมีอะไรเป็นพิเศษ และเราก็อยากหากิจกรรมใหม่ ๆ ทำด้วย การที่เรามาคัดเลือกเพื่อเป็นกลุ่มตัวแทนนิสิตก็เป็นสิ่งที่เราคิดว่ามันท้าทายตัวเองดี อยากรู้ว่าเราจะทำได้ไหม เราอยากรู้รูปแบบการทำงานและก็อยากท้าทายตัวเองเราเลยสมัครเข้ามาลองดูครับ
พี่ดับเบิ้ล: วิธีการคัดเลือกในปีของพี่ก็จะมีทั้งหมดสี่รอบด้วยกัน เราก็จะเจอเพื่อนหลาย ๆ คณะเลย หลังจากที่เราส่งใบสมัครไปแล้ว จะมีกิจกรรมแรกพบ มีคัดเลือกโดยใช้ข้อเขียน มีสัมภาษณ์ทั้งกลุ่มและสัมภาษณ์เดี่ยว คำถามก็จะเป็นความรู้ทั่วไป เรื่องของมหาลัย พี่ ๆ เค้าจะดูเรื่องของแนวความคิดของเราว่าเรามองเรื่องแต่ละเรื่องยังไงบ้างครับ
พี่ปราง: ตอนขึ้นเวทีก็จะเป็นรอบสุดท้าย แต่ละคนที่ผ่านเข้ามาในรอบนี้จะมีให้จับฉลากตอบสองคำถาม พี่ได้คำถามว่า คุณคิดว่าภาพลักษณ์ที่ดีของจุฬาที่ควรรักษาไว้คืออะไร และ คุณคิดว่างานฟุตบอลสำคัญต่อนิสิตและสังคมโดยรวมยังไงค่ะ
พี่ปราง: อย่างแรกเลยคือเราต้องฝึกรวบรวมสมาธิเพราะตอนคัดเลือกเราต้องขึ้นไปตอบคำถามบนเวทีด้วย เราตื่นเต้นได้แต่เราก็ต้องควบคุมสติตัวเองให้ได้ด้วย เราไม่รู้ว่าเราจะโดนถามอะไรเลย นอกจากนั้นคือเราก็ต้องฝึกบุคลิกภาพ แต่งตัวทำผมให้เรียบร้อย ฝึกการพูดในที่สาธารณชน และก็หาพวกข่าวปัจจุบัน อ่านหนังสือความรู้รอบตัว และเรื่องเบื้องต้นทั่วไปที่เราควรจะรู้เกี่ยวกับจุฬาฯค่ะ
พี่ดับเบิ้ล: เราแทบไม่ได้เตรียมตัวเลยเพราะจริง ๆ แล้วคือเราแค่ต้องเป็นตัวของตัวเอง แต่เราก็ไปอ่านพวกประวัติของจุฬาฯบ้างครับ
พี่ปราง: เราคิดว่าก็แค่เป็นนิสิตธรรมดานี่แหละ จริง ๆ มันก็ขึ้นอยู่กับความพร้อมว่าเราพร้อมที่จะมาทำงานตรงนี้ด้วยรึเปล่า อย่างเราก็แค่เป็นนิสิตธรรมดาคนนึงที่ได้รับโอกาส และก็ต้องเป็นนิสิตที่มีความภูมิใจในมหาวิทยาลัยด้วยเพราะเราเป็นคนที่ต้องส่งภาพลักษณ์ที่ดีของมหาวิทยาลัยให้กับสังคมภายนอก เราก็ต้องรักมหาวิทยาลัยและภูมิใจในสถาบันของเราจริง ๆ ด้วยค่ะ
พี่ดับเบิ้ล: เป็นคนที่รู้กาลเทศะ รู้ว่าตัวเองเป็นใครต้องทำหน้าที่อะไร ต้องตั้งใจเรียนด้วย จริง ๆ ก็ดูเกรดด้วยแต่เราเข้าเร็วเราเลยใช้เกรดของโรงเรียน และก็ต้องเป็นคนที่ให้ใจกับตัวเองและมหาวิทยาลัย เพราะว่าเราต้องสื่อสารให้คนอื่นรู้ถึงมหาลัยของเรา เราต้องมีความภูมิใจก่อนถ้าไม่มีความภูมิใจเราจะทำให้คนอื่นภูมิใจได้ยังไงใช่ไหมครับ
พี่ปราง: มองว่าเป็นความท้าทายมากกว่า เราก็เตรียมตัวให้ดีที่สุดและก็แสดงความเป็นตัวเราออกมาให้มากที่สุดค่ะ
พี่ดับเบิ้ล: เราว่ายากนะ เพราะปีนี้คัดประมาณสี่ร้อยกว่าคน จนเหลือรอบสุดท้ายสิบสองคน คนเข้ามาเยอะมาก ๆ แต่เราก็พยายามให้เต็มที่ที่สุดครับ
พี่ปราง: ดีใจมาก รู้สึกเป็นเกียรติมากที่ได้ทำหน้าที่ตรงนี้ครั้งนึงในชีวิตนิสิต
พี่ดับเบิ้ล: ตื่นเต้น ดีใจและภูมิใจมาก ขณะเดียวกันเราก็มีความกดดัน เพราะเราต้องทำตัวเองต้องดีขึ้น มีคนคาดหวังกับเรามากขึ้น เราก็ต้องทำให้ดีที่สุดเท่าที่ตัวเราจะทำได้
พี่ปราง: อยากจะเชิญชวนน้อง ๆ ทุกคนมาเข้าร่วมสมัครดู เพราะการเข้ามาจะได้เป็นการเปิดโอกาสให้ตัวเองได้ทำอะไรหลาย ๆ อย่าง จริง ๆ มันไม่ใช่แค่ถือป้ายสวย ๆ มีทั้งหน้าฉากและหลังฉากที่เราต้องทำทั้งหมด เราจะได้เรียนรู้การทำงานเป็นทีม เราอยู่กันเป็นแบบครอบครัว น้อง ๆ น่าจะได้ทำเพราะมันดีมากจริง ๆ มาสมัครกันเยอะ ๆ นะคะ
พี่ดับเบิ้ล: ถ้าเกิดได้มาเรียนจุฬา เราคิดว่าตรงนี้เป็นอีกหนึ่งวิธีถ้าเราอยากเปิดโอกาสให้ตัวเอง เราอาจจะเจอตัวเองก็ได้ เราอาจจะเจอสิ่งที่เราถนัด ลองมาดูครับ ลองมาเปิดโอกาสให้ตัวเองได้รับสิ่งใหม่ ๆ มันไม่เสียหายและเป็นเวทีที่ท้าทาย และเราคิดว่าการที่ได้มาทำตรงนี้ช่วยให้เราพัฒนาตัวเอง ได้ฝึกการพูด การเข้าสังคม การทำหน้าที่ของตัวเอง เราเชื่อว่าเป็นสิ่งที่ดีถ้าอยากพัฒนาตนเองครับ มาสมัครกันเยอะ ๆ นะครับ
เป็นยังไงกันบ้างคะ กว่าจะได้มาเป็นผู้อัญเชิญพระเกี้ยวแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้นี่ไม่ง่ายเลยทีเดียวค่ะ ถ้าหากน้องคนไหนสนใจกิจกรรมดี ๆ แบบนี้ก็สามารถส่งใบสมัครเข้ามาร่วมเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมได้ค่ะ สุดท้ายนี้พี่พิงค์หวังว่าบทความนี้จะสร้างแรงบันดาลใจให้กับน้อง ๆ ให้ออกมาทำกิจกรรมสร้างสรรค์และค้นหาตัวเอง ไม่จำเป็นต้องเจาะจงกิจกรรมใดกิจกรรมหนึ่งเท่านั้น เพียงแค่เราทำสิ่งที่เราชอบ พี่เชื่อว่าถ้าหากเราลองลงมือทำอย่างตั้งใจเราต้องเจอสิ่งที่ใช่แน่นอนค่ะ !
ภาพปก : Cu Photo
เรื่อง : พิชญา วัชโรดมประเสริฐ