Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา
Home > Dhamma >

อุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง

Posted By Plookpedia | 21 เม.ย. 60
2,146 Views

  Favorite

อุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง

๑. ที่ตั้ง 
อุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้งตั้งอยู่บนยอดเขาพนมรุ้ง ซึ่งเป็นภูเขาไฟเก่าที่หมดพลังแล้ว อยู่ในเขตตำบลตาเป๊ก อำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดบุรีรัมย์ ห่างจากกรุงเทพมหานครไปทางทิศตะวันออกเฉียง-เหนือ ๓๗๒ กิโลเมตร มีพื้นที่ ๔๕๑ ไร่ ๑๑ ตารางวา 

 

ทางเดินและเสานางเรียง ในอุทยานประวัติศาตร์พนมรุ้ง
ทางเดินและเสานางเรียง ในอุทยานประวัติศาตร์พนมรุ้ง อ.เฉลิมพระเกียรติ จ.บุรีรัมย์
จากหนังสือสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน ฯ เล่ม 29



๒. ความสำคัญทางประวัติศาสตร์ 
จากศิลาจารึกและหลักฐานสิ่งก่อสร้างต่างๆ ที่พบภายในบริเวณปราสาทหินเขาพนมรุ้ง และที่เชิงเขาด้านทิศใต้ แสดงว่า พื้นที่บริเวณนี้เคยเป็นที่ตั้งของชุมชนโบราณมาตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ ๑๕ โดยกษัตริย์ของอาณาจักรเขมรโบราณ ทรงจัดผู้ปกครองชุมชนเป็นผู้ดูแลเรื่อยมา สิ่งก่อสร้างที่ปรากฏ ได้แก่ ปราสาทอิฐ ๒ หลังบนเขาพนมรุ้งและปราสาทเมืองต่ำ 
ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๗ ได้มีการก่อสร้างปราสาทประธานของปราสาทหินเขาพนมรุ้งขึ้น ศิลาจารึกได้กล่าวถึงชื่อของ “นเรนทราทิตย์” โดยมี “หิรัณยะ” ผู้เป็นโอรสเป็นผู้ดำเนินการก่อสร้าง นอกจากนี้ ภายในบริเวณปราสาทหินเขาพนมรุ้ง ยังพบสิ่งก่อสร้างในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ (พ.ศ. ๑๗๒๔ - ๑๗๖๒) ได้แก่ บรรณาลัยและพลับพลา รวมทั้งอโรคยาศาล (โรงพยาบาล) และธรรมศาลา (ที่พักคนเดินทาง) ที่สร้างอยู่บริเวณเชิงเขาพนมรุ้ง 
จากหลักฐานต่างๆ ดังกล่าว รวมทั้งจากลักษณะของบาราย (สระน้ำ) ขนาดใหญ่ที่พบ แสดงให้เห็นว่า พื้นที่บริเวณนี้น่าจะมีการอยู่อาศัยของคนอย่างหนาแน่น เพียงแต่ว่า ไม่พบร่องรอยของคูน้ำคันดิน ที่แสดงความเป็นเมือง ที่บริเวณนี้ จึงอาจอธิบายได้ว่า ชุมชนในบริเวณปราสาทหินเขาพนมรุ้งตั้งอยู่ ในเส้นทางผ่านจากเมืองพระนคร ซึ่งเป็นเมืองหลวงของอาณาจักรเขมรโบราณ ไปยังเมืองพิมาย ทั้งนี้อาศัยหลักฐานที่พบคือจารึกปราสาทพระขรรค์ และจารึกปราสาทตาพรหมในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ 
หลังจากสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ อาณาจักรเขมรโบราณก็เริ่มเสื่อมอำนาจลง อาณาจักรสุโขทัยและอยุธยาได้ก่อตัวขึ้น และเข้ามามีอำนาจแทน ปราสาทหินเขาพนมรุ้งจึงเปลี่ยนสถานะจากศาสนสถานในศาสนาพราหมณ์ลัทธิไศวนิกาย มาเป็นวัดในพระพุทธศาสนาแบบมหายาน ที่นิยมกันในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ 
พงศาวดารกรุงศรีอยุธยากล่าวว่า เมื่อ พ.ศ. ๑๙๘๑ สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๒ (เจ้าสามพระยา) ทรงเตรียมกองทัพจะยกมาตีเมืองพิมายและเมืองพนมรุ้ง ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชก็มีการกล่าวถึงเมืองนางรอง ซึ่งอยู่ห่างจากปราสาทหินเขาพนมรุ้งไปทางด้านทิศตะวันตก ๒๐ กิโลเมตร โดยยังคงปรากฏหลักฐานของคูเมืองอยู่ที่เมืองนั้น 
เมืองนางรองได้รับการยกเป็นเมืองชั้นจัตวาในสมัยรัตนโกสินทร์ ปัจจุบันคืออำเภอนางรอง ขึ้นกับจังหวัดบุรีรัมย์ ส่วนพื้นที่บริเวณปราสาทหินเขาพนมรุ้งขึ้นกับอำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดเดียวกัน 

๓. โบราณสถานสำคัญ 
ปราสาทหินเขาพนมรุ้งได้รับการออกแบบตามคติความเชื่อและความนิยมในศิลปะเขมร กล่าวคือ เน้นความสำคัญของส่วนประกอบเข้าหาจุดศูนย์กลาง คือ ปรางค์ประธาน โดยปรับลักษณะการก่อสร้างให้เข้ากับสภาพของภูมิประเทศที่เป็นแนวลาดชันของเขาพนมรุ้ง 
ภายหลังจากสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เสด็จฯมาทอดพระเนตรปราสาทหินเขาพนมรุ้ง เมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๙ และ พ.ศ. ๒๔๗๒ กรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานใน พ.ศ. ๒๔๗๘ ต่อมาได้มีการบูรณะปราสาทหินเขาพนมรุ้ง ด้วยวิธีอนัสติโลซิส เริ่มการบูรณะใน พ.ศ. ๒๕๑๔ และดำเนินการแล้วเสร็จใน พ.ศ. ๒๕๓๑ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทรงเป็นองค์ประธานในพิธีเปิด เมื่อวันที่ ๒๑ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๓๑

 

มณฑปด้านทิศตะวันออก
มณฑปด้านทิศตะวันออก ซึ่งมีทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์ ประดิษฐานอยู่เหนือประตูทางเข้า
จากหนังสือสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน ฯ เล่ม 29

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
  • Posted By
  • Plookpedia
  • 15 Followers
  • Follow