ตอนที่6 ประสบการณ์เด็กรักนก
สมาชิกเลขที่6035 | 12 ก.พ. 53
1.3K views
ดังที่ผมกล่าวถึงเป้าหมายการส่งเสริมให้ลูกและศิษย์ดูนก ผมก็ได้เห็นประจักษ์พยานที่พิสูจน์ จากตัวอย่างที่หยิบยกมาสักเรื่องสองเรื่อง
โรงเรียนสุเหร่าทับช้างคลองบน เป็นตัวอย่างหนึ่งที่ผมได้สัมผัส หลายคนฟังอาจสงสัยว่าโรงเรียนนี้อยู่ในกรุงเทพมหานครหรือต่างจังหวัด ความจริงโรงเรียนนี้อยู่ย่านชานเมือง ของเขตประเวศ กรุงเทพ ฯ นี้เอง เป็นโรงเรียนขนาดเล็กที่อยู่ท่ามกลางชุมชนมุสลิม ที่ยังมีกลิ่นไอธรรมชาติ มีเรือกสวน ไร่นา ลำคลองไหลผ่าน ผมได้พบ “ คุณครูน้อยและคุณครูแป๋ว” ซึ่งคุณครูทั้ง 2 ท่าน นี้ แม้ท่านจะไม่ได้มีความรู้ด้านธรรมชาติมาก่อนก็ตาม แต่มีจุดมุ่งหมายร่วมกันในการส่งเสริมให้เด็กๆในโรงเรียนรวมตัวกันเพื่อทำกิจกรรมการอนุรักษ์ธรรมชาติในท้องถิ่น
ก่อนหน้านี้ เด็กๆโรงเรียนนี้ไม่เคยดูนก แถมในชุมชนผู้ปกครองยังมีการ “ เปิบนก”เป็นอาหาร แต่หลังจากครูใหญ่ ครูน้อยนำกิจกรรมการดูนกมาแนะนำนักเรียน ก็เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของเด็กๆ ท่ามกลางสายตาของคนในชุมชน แม้แต่พ่อแม่ที่มองว่า เด็กพวกนี้ดูนกกันไปทำไม ไม่ร่ำเรียนหนังสือหนังหาหรืออย่างไร
วันแล้ววันเล่า เดือนแล้ว เดือนเล่า เด็กๆของโรงเรียนแห่งนี้ได้ซึมซับรับความรู้และเรื่องราวความสำคัญของนก จนเกิดเป็น ความรู้ ความเข้าใจ และนำไปสู่ความรักและผูกพัน มีความสุข สนุกกับการเรียนรู้เรื่องราวของนกและธรรมชาติในชุมชน จากความรู้ที่ได้สัมผัส โดยตรงจากการดูนก ผนวกกับทักษะของการ ช่างสังเกตและการกระตุ้นด้วยกิจกรรมต่างๆของครู เด็กๆในโรงเรียนนี้ได้ก่อตั้งชมรมธรรมชาติขึ้นมา และเริ่มนำความรู้เรื่องราวของนกและธรรมชาติไปถ่ายทอดสู่ผู้คนในชุมชนทำให้ชุมชนรับ รู้ เห็นคุณค่าของนกและธรรมชาติที่อยู่ในท้องถิ่น และส่งผลต่อการ “หยุดเปิบนก” ของคนในชุมชนนี่เป็นเหตุการณ์ที่ทำให้ผมเชื่อว่าการดูนกของเด็กๆหรือแม้แต่ผู้ใหญ่ จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่ดี
ผมยังมีกรณีศึกษาของโรงเรียนในสังกัดกรุงเทพมหานครอีกหลายแห่ง ที่มีเด็กขาดโอกาสการเรียนรู้อยู่มาก แต่กลับเปิดรับการทำกิจกรรมที่ไม่เคยทำมาก่อนด้วยการดูนก ครูหลายคนได้นำกิจกรรมการดูนกไปเป็นกิจกรรมเสริมและกิจกรรมหลัก ส่งผลให้เด็กจำนวนไม่น้อยเปลี่ยนแปลงไป เด็กบางคนมีพฤติกรรมการยิงนกตกปลาตามค่านิยมของสังคมไทย เด็กหลายคนมีพฤติกรรมการทำลาย เช่นการหักเด็ด เตะต้นไม้ ทำร้ายสัตว์ เมื่อผ่านกิจกรรมการการดูนกและทำอย่างต่อเนื่อง พฤติกรรมที่ไม่น่ายินดีก็หายไป กลายเป็นเด็กมีจิตใจที่งดงาม นักเรียนบางคนถูกมองด้วยสายตาว่าเป็นเด็กเกเร ไม่เอาไหน แต่เมื่อเขามีโอกาสทำกิจกรรมดูนกร่วมกับเพื่อนๆ ความไม่เอาไหน ความเกเรก็เปลี่ยนไปเป็นความรับผิดชอบ การรู้จักอยู่และทำงานร่วมกับผู้อื่นและกลายเป็นเด็กมีพฤติกรรมที่ดีในโรงเรียน ทำให้ผมเชื่อว่าธรรมชาติเป็นเครื่องขัดเกลาผู้คนได้
และไม่ได้จำกัดแต่เด็กที่มีสภาพร่างกายปกติเท่านั้น แม้แต่เด็กที่พิการทางร่างกาย เช่น เด็กที่พิการทางดวงตา เด็กพิการทางกาย กิจกรรมการดูนกได้ช่วยเป็นกำลังใจกับเด็กเหล่านี้ ซึ่งผมยังประทับใจอยู่ตลอดเวลาที่เคยนำเด็กตาบอดไปดูนกที่สวนลุมพินี ทำให้เด็กๆมีความสุขและเข้าถึงธรรมชาติได้ แม้ว่าจะมีบางอย่างไม่เหมือนเด็กทั่วไป
ยังมีอีกหลายโรงเรียนที่พัฒนาไปในเรื่องของการทำกิจกรรมดูนก หลายโรงเรียนที่ผมรู้จักได้นำการดูนกไปบูรณาการการเรียนรู้ของลูกศิษย์ เช่น นำไปสู่การทำงานศิลปะจากธรรมชาติ อาทิ เช่น เข็มกลัดนก ศิลปะจากวัสดุเหลือใช้ เช่น นกจากขวดน้ำ หลายโรงเรียนพยายามนำไปสู่การเชื่อมโยงกับเรื่องของวิทยาศาสตร์ เช่น กรณีของโรงเรียนวัดแสมดำ เขตบางขุนเทียน ที่คุณครูพงษ์ศักดิ์ แพงคำอ้วน คุณครูที่เอาดีด้านโครงงานวิทยาศาสตร์ ได้ส่งเสริมให้ลูกศิษย์ ทั้ง 3 คือ น้องวีระชัย ไชยยันต์บูรณ์ น้องธเนศ ไชยยันต์บูรณ์ และน้องบัณฑิต ใจเสงี่ยม ทำโครงการชื่อว่า “เล่นกลคนช่วยนก” ด้วยการใช้เวลากับการทดลอง เฝ้าสังเกตการหากินของนกในบริเวณชายเลนใกล้โรงเรียนกว่า 4 เดือน โดยใช้เวลาพักเที่ยงและหลังเลิกเรียน ซึ่งผลจากการเพียรพยายาม เด็กกลุ่มนี้ก็ได้ช่วยนกชายเลนและนกท้องทุ่งและทำให้บริเวณโรงเรียนแสมดำกลายเป็นเขตอนุรักษ์นก
หรือที่ผมชื่นชมอย่างยิ่งคือเด็กๆและผู้ใหญ่ในโรงเรียนท่ามะไฟหวาน จังหวัดชัยภูมิ ชุมชนแห่งนี้ได้สนับสนุนกิจกรรมการการดูนกและการอนุรักษ์ธรรมชาติในท้องถิ่นมาเป็นเวลาหลายปี ต่อเนื่องและจริงจัง จนเด็กๆมีชมรมเด็กรักนกท่ามะไฟหวานมีผลงานจากการดูนกออกมาและเป็นตัวอย่างที่ดีในการ
อนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในท้องถิ่น
ความจริงยังมีเรื่องราวของขบวนการเด็ก ๆ ที่ทำกิจกรรมดูนกอีกมากมายหลายแห่งที่ยังไม่ได้เล่าให้พ่อแม่ครูอาจารย์ฟัง แต่ผมมั่นใจว่า การนำกิจกรรมดูนกไปส่งเสริมเด็กๆอย่างจริงจังและต่อเนื่อง เป็นสิ่งที่มีผลดีอย่างยิ่ง ต่อตัวเด็กๆ คุณครู ผู้ปกครองรวมทั้งชุมชน ซึ่งเวลานี้ได้เกิดชมรมคนดูนกหรือมีกิจกรรมการดูนกมากมายและกระจายไปทั่วประเทศเพียงพอที่จะเป็นเครือข่ายซึ่งกันและกัน โดยเฉพาะกับพ่อแม่และครู เช่นสมาคมอนุรักษ์นกและธรรมชาติแห่งประเทศไทย ชมรม เบิร์ดไลฟ์คลับ ชมรมคนรักนก มหาวิทยาลัยศิลปกร ชมรมพิทักษ์พันธุ์นก มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขนกำแพงแสน ชมรมดูนกบางจาก ชมรมอนุรักษ์ธรรมชาติและทรัพยากรธรรมชาติ ชมรมครูห้องเรียนธรรมชาติ ชมรม For birds ชมรมสาริกาดง ชมรมนักนิยมธรรมชาติ ชมรมอนุรักษ์นกแอนด์เนเจอร์ เป็นต้น